วันพฤหัสบดี, 23 มกราคม 2568

ศอ.บต.ขับเคลื่อนแผนตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นที่ จชต.

25 ส.ค. 2020
26

           ศอ.บต. จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานระดับตำบล ภายใต้แผนตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประจำปี 2563 กลุ่มภาคประชาสังคม รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมกรุงเทพ โรงแรมบีพีแกรนด์ทาวเวอร์หาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยในวันนี้ (24 สิงหาคม 2563) เวลา 15.00.น. นายธรรมรงค์ คงวัดใหม่ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานเปิดกิจกรรมฯ โดยมี นายอำนวย ศรีระแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. นายบดินทร์ เดชอรัญ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ศอ.บต. นายกิตติศักดิ์  ทองขาว  ผู้อำนวยการกลุ่มงานอํานวยการและบริหาร กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ศอ.บต. ซึ่งมีเป้าหมายเข้าร่วมเป็นกลุ่มภาคประชาสังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จำนวน 282 คน

          ด้าน นายธรรมรงค์ คงวัดใหม่ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้กล่าวพบปะผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่า ภาคประชาสังคมเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายมาก มีทั้งกลุ่มเด็ก กลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี กลุ่มอาชีพ ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งวันนี้เป็นการร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาในบริบทของตำบลภายใต้โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดย ศอ.บต.รับผิดชอบมิติการพัฒนาควบคู่กับ กอ.รมน.ภ 4 สน.ที่รับผิดชอบมิติความมั่นคง ด้าน ศอ.บต.มิติการพัฒนามี 2 ระดับคือ ระดับ 5 จชต.ที่ดำเนินการโครงการใหญ่ๆ เช่น โครงการเมืองต้นแบบสามเหลียมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน  และระดับพื้นที่คือ โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ภายใต้เครื่องมือที่สำคัญนั้นคือ แผนพัฒนาตำบลที่เป็นแผนจากการประชาคมหมู่บ้านที่เป็นความคิด ความเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง และวันนี้ขอให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้นำความรู้ที่ได้มาบูรณาการ เชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่ต่อไป

         ทั้งนี้ ศอ.บต. ดำเนินโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้าน ชุมชน และตำบล ใน จชต.เป็นการบูรณาการกับทุกภาคส่วนในพื้นที่โดยใช้สภาสันติสุขตำบลนำปัญหาและความต้องการจากแผนพัฒนาตำบลตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมเป็นส่วนหนึ่งของสภาสันติสุขตำบลที่จะขับเคลื่อนบูรณาการไปพร้อมๆกับหน่วยต่างๆ โดยกิจกรรมในวันนี้เป็นการเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมภายใต้สภาลันติสุขตำบลให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้นำเสนอข้อคิดเห็นในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาตามความต้องการของพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนแผนตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นที่ จชต. นั้น จะต้องร่วมกันเดินหน้าในทุกๆมิติ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนจะต้องมีส่วนนำเสนอปัญหา ความต้องการของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไปจึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่ตรงจุดอีกด้วย

*********************************