วันที่ 7 ม.ค. 64 เวลา 09.30 น. ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พันเอก วัชรกร อ้นเงิน รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วย พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ ทองสองสี หัวหน้างานกิจการพลเรือนกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ /ผู้ช่วยโฆษกกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ นาย ธีรพงศ์ เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ / โฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมแถลงข่าวชี้แจงความก้าวหน้างานสำคัญ เน้นดูแลประชาชนรับมือ โควิด-19 ระลอกใหม่ ยกการ์ดให้สูงขึ้น แล้วเราจะก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
นาย ธีรพงศ์ เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ / โฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สรุปผลการปฏิบัติงานในห้วงที่ผ่านมา จากปัญหาฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ส่งผลให้เกิดอุทกภัยที่กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนรวมถึงเกษตรกรในพื้นที่ ทางด้าน ศอ.บต. จึงได้ประสานงานขอรับการสนับสนุนถุงยังชีพพระราชทาน จากมูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ซึ่งได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ได้มอบถุงยังชีพพระราชทานเพื่อช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 6,100 ถุง ซึ่งศอ.บต. ร่วมกับผู้ว่าราชการทั้ง 3 จังหวัด, บัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งของ ศอ.บต. และผู้นำท้องถิ่น ดำเนินการแจกจ่ายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาคนว่างงาน ทั้งที่อยู่เดิมในพื้นที่ และที่เดินทางกลับจากการทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ทางด้าน ศอ.บต. จึงได้ประชุมหารือร่วมกับแรงงานจังหวัดในพื้นที่ เพื่อได้ทราบข้อมูลการว่างงานของประชาชนพร้อมลงพื้นที่เคาะประตูบ้านเพื่อสำรวจข้อมูลผู้ว่างงาน ร่วมกับกระทรวงแรงงานและภาคเอกชน พร้อมจัดฝึกอาชีพ และอำนวยความสะดวกในการจัดส่งแรงงานในพื้นที่ไปทำงาน ณ บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็กโทรนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 3 รุ่น รวม 2,000 คน พร้อมทั้งแจกจ่ายถุงยังชีพ ให้การช่วยเหลือ ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ แม่ที่คลอดบุตรในช่วงปิดการข้ามแดน รวมทั้งนำทรัพย์สินกลับไทย เช่น รถยนต์
ด้านความคืบหน้าการดำเนินการให้ อ.จะนะ เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ศอ.บต. ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายคือ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, อ.เบตง จ.ยะลา อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ ล่าสุดเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา โดยกำหนดให้ อ.จะนะ เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต มีเป้าหมายสำคัญเพื่อการสร้างงาน สร้างอาชีพ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างยั่งยืน และมั่นคง
สำหรับการเตรียมดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชน ให้กลุ่มโอรังอัสลี เพื่อให้ได้รับการรับรองความเป็นพลเมืองและได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ได้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์โอรังอัสลี ดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชน ให้กลุ่มโอรังอัสลีได้รับการรับรองความเป็นพลเมือง และให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานการเข้ารับการรักษาพยาบาล ด้วยสิทธิ 30 บาท การเข้ารับการศึกษา และการเข้าถึงสิทธิอื่น ๆ ที่พึงควรได้รับในฐานะพลเมืองไทยและอาศัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 คณะทำงานได้ลงพื้นที่ตรวจ เก็บข้อมูลอัตลักษณ์ ใบหน้า และถ่ายรูปทำบัตรประชาชนแก่กลุ่มชาติพันธุ์โอรังอัสลี ที่อาศัยอยู่พื้นที่บ้านนากอ ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา แล้ว ปัจจุบันมีจำนวน 54 คน
ขณะที่พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ ทองสองสี หัวหน้างานกิจการพลเรือนกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ /ผู้ช่วยโฆษกกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ชี้แจงความคืบหน้าการปฏิบัติที่สำคัญว่า ในห้วงเดือน ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา สถิติการเกิดเหตุความมั่นคง ปี 2563 เกิดเหตุรวม 54 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุก่อกวน 28 เหตุ เหตุปะทะ 13 เหตุ และจากเหตุความมั่นคงทำให้มีผู้บาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 97 ราย การออกหมายและจำหน่ายหมายจับตาม ป.วิอาญา ในคดีความมั่นคงปี 2563 ออกหมายจับ 104 หมาย จับกุมและถอนหมายจับ จำนวน 51 หมาย คงเหลือหลบหนี จำนวน 53 หมาย ในพื้นที่โดยเร็ววัน ภายใต้แนวคิด “องค์กรเข้มแข็ง สร้างความยุติธรรม ประชาชนอยู่อย่างปลอดภัย” และการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิด “SATU PADU เราคือพี่น้องกัน”
ทางด้าน พันเอก วัชรกร อ้นเงิน รองโฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยถึงการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ร่วมกับหน่วยงาน องค์กรทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู้วิกฤต โควิด-19 ระลอกใหม่ ควบคู่กับการดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างดีที่สุด โดย พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้สั่งการให้หน่วยทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สนับสนุนการปฏิบัติและบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข และ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) กำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องการสวมใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง ล้างมือให้บ่อย งดการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อโรค และหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการตรวจคัดกรอง โควิด-19 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริเวณด่านตรวจ/จุดตรวจในพื้นที่ และตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 ในส่วนของจังหวัดที่ได้กำหนดขึ้น
สำหรับในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐเองจะต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชน ในการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายในหน่วยทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการยกระดับเพิ่มมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด รวมไปถึงได้มีการเตรียมการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในหน่วยทหาร หากพบว่ามีกำลังพลและครอบครัวสงสัยติดเชื้อ โดยได้จัดเตรียมสถานที่กักตัว และประสานสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลค่ายสังกัดกองทัพบก ในพื้นที่ดำเนินการสอบสวนโรคต่อไป เพื่อเป็นการดูแลปกป้องตนเองจากความเสี่ยงต่อโรค และยังเป็นการสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงานให้กับพี่น้องประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย
ด้านการดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 4 และหน่วยทหารในพื้นที่ รวมไปถึงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงดำเนินโครงการในการช่วยเหลือประชาชน ตามที่ได้เคยปฏิบัติมาในการแพร่ระบาด โควิด-19 ระลอกแรกแล้ว ทั้งการช่วยรับซื้อพืชผลทางการเกษตรจากเกษตรกรโดยตรง การแจกจ่ายหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การจัดชุด Army delivery จัดส่งอาหารในพื้นที่ห่างไกล และจัดชุดแพทย์เดินเท้าตรวจรักษา แจกจ่ายยาพร้อมให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้น รวมไปถึงเตรียมเปิดพื้นที่ภายในหน่วยทหาร อำนวยความสะดวกให้ประชาชนมาทำการค้าขาย เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับพื้นที่ตามแนวชายแดน โดยกองกำลังป้องกันชายแดนได้เพิ่มมาตรการในการสกัดกั้นการผ่านแดน โดยผิดกฎหมาย รวมถึงได้เพิ่มความถี่ในการลาดตระเวนเฝ้าตรวจทั้งทางบกและทางน้ำตลอด 24 ชั่วโมง เน้นพื้นที่ล่อแหลม และช่องทาง/ท่าข้ามตามธรรมชาติตลอดแนวชายแดน ขอให้พี่น้องประชาชนได้มีความมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ปล่อยให้มีบุคคลใดเล็ดลอดเข้ามาโดยที่ไม่ผ่านกระบวนการคัดกรอง โควิด -19 อย่างแน่นอน ซึ่งในส่วนนี้เจ้าหน้าที่ต้องมีการป้องกันตนเองจาก โควิด-19 อย่างสูงสุดเช่นเดียวกัน จากการที่ต้องสัมผัสกับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ตลอดเวลา โดยที่ผ่านมาผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นได้ให้ความสำคัญ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตามแนวชายแดนมาอย่างต่อเนื่อง และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการขยายระยะเวลาปิดประเทศต่อเนื่องไปจนถึง 31 มี.ค. 64 ทำให้มีผู้ที่ต้องการลักลอบผ่านแดนโดยผิดกฎหมายเข้ามายังประเทศไทย โดยจะอาศัยผ่านช่องทาง/ท่าข้ามตามธรรมชาติที่มีมากกว่า 94 ช่องทางตลอดแนวชายแดน จึงทำให้เจ้าหน้าจะต้องทำงานกันอย่างหนัก และจากมาตรการคุมเข้มของฝั่งประเทศไทยทำให้สามารถจับกุมผู้ลักลอบผ่านแดนโดยผิดกฎหมายได้รวม จำนวน 133 ราย (นับตั้งแต่ประกาศระลอกใหม่) และได้ส่งตัวเข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรอง โควิด-19 และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ซึ่งหัวใจสำคัญในการสกัดกั้นผู้ลักลอบผ่านแดนโดยผิดกฎหมายก็คือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตลอดแนวชายแดน จะต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวัง หากพบเห็นว่ามีบุคคลลักลอบเข้ามา หรือมีเบาะแสของกลุ่มขบวนการนำพา สามารถแจ้งได้ที่เบอร์สายตรงแม่ทัพภาคที่ 4 โทร 061-173-2999 หรือสายด่วน 1341 และหน่วยทหารในพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย รวมจำนวน 591 กม. แบ่งเป็นพื้นที่ทางบก 496 กม. และทางน้ำ 95 กม.(แม่น้ำโกลก) โดยมีช่องทาง/ท่าข้ามที่ถูกกฎหมายรวม จำนวน 7 ช่องทาง แบ่งเป็นในพื้นที่ จ.สงขลา 3 ช่องทาง พื้นที่ จ.ยะลา 1 ช่องทาง และพื้นที่ จ.นราธิวาส 3 ช่องทาง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในประเทศจะมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นก็ตาม หากทุกคนมีความรับผิดชอบต่อตนเอง และสังคมโดยรวม ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งเราเคยร่วมมือกันจนสำเร็จมาแล้ว “ ยกการ์ดให้สูงขึ้นอีกสักครั้ง แล้วเราจะก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ไปด้วยกัน ”
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางหน่วยทหารได้มีการติดตามแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ในวันที่ 4 – 8 มกราคม 2564 ได้มีฝนตกหนักติดต่ออย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทาง พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้สั่งการให้หน่วยทหารพร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอคำสั่ง ทั้งนี้สำหรับพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัย สามารถแจ้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยภาคที่ 4 โทร. 0-75383-405 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองพลทหารราบที่ 15 โทร. 0-7342-4021 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 46 โทร. 0-7334-0141 และหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง