วันพฤหัสบดี, 23 มกราคม 2568

ผอ.ศป.พร. ตรวจเยี่ยม ”โครงการธนาคารข้าวพระราชทาน ” เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่นราธิวาส

19 มี.ค. 2021
15

 

             พลตรีไพศาล  หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15/ผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมอาคารธนาคารข้าวพระราชทานบ้านตอหลัง ศูนย์ประวัติศาสตร์การเรียนรู้  ณ วัดตอหลัง ตำบลตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ปรับปรุง ซ่อมแซม เป็นอาคารธนาคารข้าวศูนย์ประวัติศาสตร์การเรียนรู้ให้กับชุมชน เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการธนาคารข้าวพระราชทานตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้คงอยู่คู่กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่

            ทั้งนี้ พลตรีไพศาล  หนูสังข์  ได้เป็นวิทยากรให้ความรู้ ประวัติความเป็นมาการจัดตั้งโครงการธนาคารข้าวพระราชทาน ให้แก่ เด็กนักเรียน และเยาวชนโรงเรียนตันติการาม ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยกล่าวว่า การปรับปรุงอาคารธนาคารข้าวเป็นศูนย์ประวัติศาสตร์การเรียนรู้นั้น มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้พี่น้องประชาชน ได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ อันหาที่สุดมิได้ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย เกิดความรัก จงรักภักดี และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์มากยิ่งขึ้น และ เพื่อให้โครงการธนาคารข้าวที่หยุดดำเนินการ และยังมีสภาพอาคารธนาคารข้าวที่ ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพดีต่อไป

           สำหรับโครงการธนาคารข้าวพระราชทานจัดตั้งขึ้นตามพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยราษฎรในหมู่บ้าน พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีเหตุการณ์ความรุนแรง ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินกระทบต่อความเป็นอยู่ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติประชาชนมีข้าวไม่เพียงพอในการบริโภค จึงให้มีการจัดตั้งธนาคารข้าวเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ราษฎรในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบโดยเร่งด่วนโดยให้ชื่อว่า ”โครงการธนาคารข้าวพระราชทาน ” เพื่อเป็นการช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อนให้มีข้าวเพียงพอในการบริโภค เป็นมาตรการป้องกันให้ราษฎรในหมู่บ้านปลอดภัยมากที่สุด หรือได้รับผลกระทบจากการก่อความรุนแรงให้น้อยที่สุดและเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มอย่างเป็นระบบให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้เกิดพลังมวลชนที่เข้มแข็ง และอยู่ในหมู่บ้านได้อย่างมั่นคง มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินสามารถที่จะพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

***************************