วันพฤหัสบดี, 23 มกราคม 2568

แม่ทัพภาคที่ 4 ร่วมแถลงชี้แจงสรุปผลการปฏิบัติงานที่สำคัญในรอบ 6 เดือน ประจำเดือนมีนาคม 2564

              เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 เวลา 13.30 น.​ ณ สโมสรนายทหารสัญญาบัตร กองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4,​ พลตำรวจโท รณศิลป์ ภู่สาระ​ ผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมแถลงชี้แจงสรุปผลการปฏิบัติงานที่สำคัญในรอบ 6 เดือน และร่วมประชุมหน่วยขึ้นตรง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ประจำเดือน มีนาคม 2564 โดยมี ผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี,​ ยะลา,​ นราธิวาส และสงขลา ผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, หน่วยเฉพาะกิจจังหวัด, หน่วยขึ้นตรงกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาย 4 ส่วนหน้า และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

              ในโอกาสนี้แม่ทัพภาคที่ 4/ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้ร่วมประชุมได้มอบใบประกาศเกียรติคุณ และมอบรางวัล ให้แก่หน่วยที่ปฏิบัติงานดีเด่น เพื่อเป็นขวัญ และกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ได้แก่ หน่วยเฉพาะกิจสงขลา 40 ที่สามารถควบคุมตัว นายคฑา โสะจะ สมาชิกผู้ก่อเหตุความรุนแรงระดับปฏิบัติการ และมีหมายจับป.วิอาญาจำนวน 3 หมาย, มอบรางวัลให้กับชุดปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 กรณีปะทะกับคนร้ายในพื้นที่บ้านปากู ตำบลปากู อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี และมอบใบประกาศเกียรติคุณให้กับชุดคุ้มครองตำบลที่มีผลการประเมินความเข้มแข็งดีเด่น

                พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า การแถลงสรุปผลการปฏิบัติงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา เป็นการปฏิบัติงานในการสานต่อนโยบายจากอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้ยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจเข้าถึง พัฒนา และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ครอบคลุมงานด้านความมั่นคงการเสริมสร้างความเข้าใจและการพัฒนาเพื่อความมั่นคงทางการปกครองการอำนาจรัฐในการแก้ไขปัญหาให้ความสำคัญกับงานด้านสิทธิมนุษยชน และเสริมสร้างความเข้าใจกับองค์กรต่างๆ​ ทั้งในและต่างประเทศโดยในห้วงที่ผ่านมาสถานการณ์ในภาพรวมมีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้น การก่อเหตุความรุนแรงลดลง พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งยังคงเน้นนโยบายสำคัญเร่งด่วน 5 งานคือด้านการควบคุมพื้นที่และบังคับใช้กฎหมาย ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดยังคงยึดกรอบแนวทางการดำเนินการด้านการป้องกันปราบปรามบำบัดรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะปัญหายาเสพติดเป็นทุกข์ของพี่น้องประชาชน ซึ่งขณะนี้ได้มีกระบวนการบำบัดฟื้นฟูโดยใช้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือชุมชนบําบัด​( CBTX ) มาขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหา โดยมีครอบครัวสภาสันติสุขตำบลมะนังยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นชุมชนนำร่องในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งได้ดำเนินการเห็นผลอย่างเป็นรูปประธรรม และตั้งเป้าหมายขยายครอบครัวสภาสันติสุขตําบล ให้ครอบคลุม 288 ตำบล 37 อำเภอ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ภายในปี 2564 และด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งได้ส่งเสริมทำนุบำรุงกิจกรรมทางศาสนาทุกศาสนา ทั้งไทยพุทธ และไทยมุสลิม กระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนปลอดภัย รวมถึงด้านการส่งเสริมการพัฒนาเพื่อความมั่นคง สนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ โครงการศิลปาชีพ และโครงการเยาวชนคลื่นลูกใหม่ สนับสนุนโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ทั้งยังสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบปัญหาพืชผลทางการเกษตรที่ราคาตกต่ำ โดยร่วมกับศูนย์วิจัยพืชสวนจังหวัดยะลาในการเพาะพันธุ์กาแฟอาราบิก้า และร่วมบูรณาการพัฒนาเพื่อความมั่นคงร่วมกิจกรรมสืบสานประเพณี”พลิกนาร้าง เป็นนารักษ์” ปีที่ 3 และงานด้านการเสริมสร้างความเข้าใจมุ่งเน้นการใช้กลไกอำนาจรัฐ และผู้นำศาสนาเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเข้าใจทั้งใน และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้เวทีประชุมสภาสันติสุขตําบล 290 ตำบล เพื่อรับทราบปัญหา และรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะและบูรณาการในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งนี้ที่ผ่านมาแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดประชาชนมีความพึงพอใจในนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมถึงการดำเนินการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นอกจากนี้ปัญหาด้านการลักลอบตัดไม้ทำลายป่ายังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าให้ความสำคัญ และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสเตียงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาและหันมาช่วยกันอนุรักษ์และร่วมกันรักษาป่าไม้ ที่อยู่ในพื้นที่ให้มีความอุดมสมบูรณ์

                ด้านพลตำรวจโท รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ด้านการบังคับใช้กฎหมาย กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูแลเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ที่ผ่านมาเขตความมั่นคงเกิดขึ้นทั้งหมด 36 เหตุ และเหตุก่อกวนเกิดขึ้น 38 เหตุลดลงจากช่วงเดียวกันดับปีที่แล้ว 10 เหตุการณ์ และออกหมายจับด้านคดีความมั่นคง จำนวน 63 หมายจับคุมแล้ว 39 หมายหลบหนี 24 หมาย คำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาหลายๆคดีรวมทั้งหมด ทั้ง 3 ศาล 56 คดี สำหรับคดีสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีทั้งหมด 3 คดี คือคดีการก่อความไม่สงบที่มีการเคลื่อนย้ายจาก อำเภอสุคิรินมาที่อำเภอกะพ้อ โดยใช้รถกระบะขนบุคคลแต่งกายเลียนแบบผู้หญิง สามารถออกหมายจับได้จำนวน 12 คน ได้แล้ว 5 คนหลบหนี 7 คน และคดีการปล้นรถเคอรี่เพื่อนำไปประกอบระเบิด นำไปจอดไว้ที่โรงพักอำเภอรามัน จากการตรวจสอบพบมีความเชื่อมโยงเหตุระเบิดหน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปีที่แล้ว รวมถึงคดีการสามัญฆาตกรรม โดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 ในพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดงจังหวัดปัตตานี สำหรับคดียาเสพติดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2564 จับกุมยาเสพติดได้ 13,869 คดี มีจำนวนผู้ต้องหา 1470 ราย มีของกลางเป็นยาเสพติดจำนวน กว่าเก้าล้านเม็ด ยาไอซ์ 429 กิโลกรัม เฮโรอีน 15 กิโลกรัม ยึดทรัพย์ได้จำนวน 40 กว่าล้านบาท

ขณะที่ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ในภาพรวมขณะนี้สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น ถึงแม้จะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่ แต่สิ่งที่สัมผัสได้คือความหวาดระแวงความกังวลต่างๆเริ่มคลายตัวลง เริ่มเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นสัญญาณที่บอกว่าสถานการณ์เริ่มคลายตัว มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในพื้นที่จำนวนมากขึ้น แม้จะอยู่ในช่วงของสถานการณ์โรคโควิด 19 ระบาด ผลมาจากการทำงานอย่างหนักโดยการนำของแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงส่วนราชการทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหน้าที่ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นศูนย์กลางในการประสานงานการทำงาน มีความมุ่งหมายคือการพัฒนาให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่นเดียวพี่น้องประชาชนในภูมิภาคอื่นๆของประเทศไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมความมั่นคง พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาด้านเศรษฐกิจ และพัฒนาสังคม และปรับระบบการบริหารจัดการหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการเสริมความมั่นคง โดยมีสภาสันติสุขตําบลในการเข้าถึงปัญหาต่างๆของประชาชน หรือการเสริมความมั่นคงด้านการอำนวยความเป็นธรรมหรือคลายทุกข์ที่ต้นทาง รับเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1880 รับเรื่อง และส่งต่อแนะนำประสานงานการแก้ไข ซึ่งทำให้เกิดการคลายทุกข์ในเบื้องต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในพื้นที่ การทำงาน 6 เดือนที่ผ่านมาสามารถเช็คได้ทุกครัวเรือนผ่านระบบออนไลน์เพื่อดูแลทุกเดือน สำหรับปัญหาที่กระทบด้านความมั่นคงเรื่องที่ดินทำกินของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาในหลายพื้นที่ เช่นเดียวกับผลกระทบด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีพี่น้องประชาชนเดินทางเข้ามาในประเทศจำนวน 20,000 กว่าคน ได้สำรวจโดยละเอียดและจัดทำระบบออนไลน์ ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการให้ครอบคลุมทุกครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นคือโรคระบาดที่เกิดขึ้นในยางพาราโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส มีการระบาดไปแล้วจำนวน เจ็ดแสนกว่า ไร่ ส่งผลให้ต้นยางพารายืนต้นตาย ได้ทำงานร่วมกันกับการยางแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง นอกจากนี้ยังมีโรงงานแปรรูปมะพร้าวอย่างครบวงจรซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ สำหรับเรื่องการขนส่งในพื้นที่ไม่มีท่าเรือน้ำลึกได้หารือร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยขนส่งสินค้าโดยตู้คอนเทนเนอร์ภาคใต้ตอนล่างประเดิมไปแล้วที่อำเภอนาประดู่ จังหวัดปัตตานี นี่คืออีกหนึ่งนิมิตหมายใหม่ในเรื่องเศรษฐกิจในพื้นที่ ในขณะนี้ภายใต้การนำของท่านแม่ทัพภาคที่ 4/ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 รวมถึงกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 5 จังหวัด และทุกส่วนกำลังทำงานอย่างเต็มที่แม้เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ยังไม่หมดไปแต่พื้นที่กำลังพัฒนาเดินหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

****************************