วันศุกร์, 24 มกราคม 2568

“เปิดแล้วอย่างเป็นทางการ” โรงพยาบาลสนาม ยืนยันเพียงพอดูแลพี่น้องประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19

30 เม.ย. 2021
13

          เมื่อวันที่ 29 เม.ย 64 ที่โรงพยาบาลสนามจังหวัดยะลา ภายในโรงเรียนศึกษาพิเศษ เขตพัฒนาพิเศษเขตเฉพาะกิจ จังหวัดยะลา นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย นายสงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดยะลา นายแพทย์ อินทร์ จันแดง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา พลตำรวจตรีทินกร รังมาตย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ผู้แทนผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา ได้เดินทางไปตรวจความพร้อม โรงพยาบาลสนามจังหวัดยะลา เพื่อใช้สำหรับรองรับการดูแลรักษา และเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ซึ่งยังไม่แสดงอาการ ทั้ง 7 อำเภอ (อ.เมือง อ.กรงปินัง อ.บันนังสตา อ.ยะหา อ.รามัน อ.กาบัง อ. ธารโต) ในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมากเกินศักยภาพของโรงพยาบาล ตลอดจนยังเป็นการลดผลกระทบของผู้ป่วยอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการในโรงพยาบาล โดยเบื้องต้น รพ.ต่างๆ จะทยอยส่งผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง เข้ามาอยู่ใน รพ.สนาม จำนวน 16 คน

        นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ระบุว่า ตอนนี้ รพ.สนาม ถือว่ามีความพร้อมเต็มที่ที่จะใช้ประโยชน์ แน่นอนว่ามาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทหาร ตำรวจ ปกครอง ภาคเอกชน ร่วมใจกันจัดเตรียมสถานที่แห่งนี้จนเป็นที่เชื่อถือ ไว้วางใจของประชาชน เหมาะกับจัดทำเป็นระบบ รพ.สนาม หรือศูนย์สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ผู้มาอยู่ที่นี่ไม่ใช่ผู้ป่วยหนักแต่ก็จะเป็นประโยชน์กับ รพ.ที่จะได้บริหารเตียงผู้คน คนสมควรจะอยู่ในการเฝ้าระวังแค่ไหนอย่างใด เป็นการสร้างความมั่นใจให้พี่น้องประชาชนว่า ทางจังหวัดยะลา ได้จัดไว้พร้อมแล้ว เพียงพอที่จะดูแลประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ตอนนี้ระบบสื่อสารภายในโทรศัพท์ อินทราเน็ต ไวไฟ ศูนย์บัญชาการ พร้อมหมดแล้ว ส่วนความปลอดภัยก็มีการจัดแบ่งโซน การปนเปื้อนความสะอาดไม่ให้ออกไปภายนอกสถานที่นี้ จากการพบปะกับชาวบ้านในพื้นที่พี่น้องประชาชนก็เข้าใจเป็นอย่างดี และพร้อมที่จะช่วยกันดูแล ด้านผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา เผยว่า สำหรับผู้ป่วยที่มาอยู่ที่นี่ก็จะเหมือนกับอยู่ที่ รพ.ยะลา ไม่ต้องเตรียมอะไรมา มีทั้งโทรศัพท์ เน็ต ไวไฟ คอมพิวเตอร์ เครื่องออกกำลังกาย และทาง รพ.สนามไม่รับของฝาก รวมทั้งห้ามเยี่ยมด้วย โควิด-19 ห้ามเยี่ยม จะเจอกันเมื่อปลอดภัยเท่านั้น

        ขณะที่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ได้วางมาตรการรักษาความปลอดภัยร่วมกันทุกฝ่ายทั้งตำรวจ ทหาร ปกครอง ประชาชน เพื่อสร้างความปลอดภัย มั่นใจว่าเอาอยูjสำหรับ โรงพยาบาลสนามในโรงเรียนศึกษาพิเศษ เขตพัฒนาพิเศษเขตเฉพาะกิจ จังหวัดยะลาจังหวัดยะลาเป็น 1 ใน 2 แห่ง ของ จ.ยะลา (โรงพยาบาลสนามอำเภอเบตง) โดยใช้อาคารของโรงเรียนศึกษาพิเศษ ที่เป็นอาคาร 3  ชั้น โดยชั้นที่ 1 (ผู้ป่วยชาย) และ 2 (ผู้ป่วยหญิง) รองรับผู้ป่วยได้ ชั้นละ  62 เตียง  (รวม 124 เตียง) และชั้นที่ 3 เป็นสำนักงาน และที่พักของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย ในระยะแรกการให้เปิดให้บริการจะเปิดให้บริการ 1 อาคาร และสามารถเปิดเพิ่มได้สูงสุด 3 อาคาร สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 372 เตียง การให้บริการของโรงพยาบาลสนามจะให้บริการในผู้ป่วยติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีอาการไม่รุนแรง ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีอาการรุนแรงจะได้รับการดูแลในโรงพยาบาลยะลา ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้ 32 เตียง

         โรงพยาบาลสนาม จังหวัดยะลา จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือของโรงพยาบาลทั้ง 7 แห่งของจังหวัดยะลาที่ได้ร่วมกันแบ่งปันทรัพยากร ประกอบด้วย โรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลรามัน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา โรงพยาบาลบันนังสตา โรงพยาบาลธารโต โรงพยาบาลกาบัง และโรงพยาบาลกรงปินัง โดยมีแพทย์หญิงนิตยา ภูวนานนท์ (รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลยะลา เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม (โรงเรียนศึกษาพิเศษ) นายชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม และมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ เป็นคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลสนาม และรับผิดชอบภารกิจต่างๆ ของโรงพยาบาลสนาม ประกอบด้วย ด้านการแพทย์ ด้านการพยาบาล ด้านการบริหารจัดการ ด้านสังคมสงเคราะห์และจิตวิทยา ด้านเครื่องมือและเวชภัณฑ์มิใช่ยา ด้านการป้องกันการติดเชื้อ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการเชื่อมโยงการสื่อสารและการติดต่อ โดยมีทีมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจิตอาสา จำนวน 7 ทีม จากแต่ละโรงพยาบาล ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาปฎิบัติงานและดูแลผู้ป่วย ส่วนการรักษาความปลอดภัยของโรงพยาบาลสนาม มีเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้การดูแลความปลอดภัยในโรงพยาบาลดังกล่าว