เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.00 น. พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 นำทีมผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ ยะลา, สงขลา, ปัตตานี และนราธิวาส ตลอดจนผู้บังคับหน่วยในพื้นที่ ขึ้นขบวนรถไฟสายกรุงเทพ – สุไหงโก-ลก แถลงแผนรักษาความปลอดภัยเส้นทางรถไฟสายจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เริ่มต้นเดินทางจากสถานีรถไฟยะลา ปลายทางที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยมี นายพงษ์ศักดิ์ บุญสุข ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเดินรถภาค 4 ที่หาดใหญ่ สอบเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยประจำเส้นทางการเดินรถในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้การต้อนรับ ร่วมขบวน หารือรับนโยบายรักษาความปลอดภัยเส้นทางเดินรถ โดยระหว่างเส้นทางขบวนรถไฟ เมื่อมาถึงยังสถานีต่าง ๆ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ลงพบปะเยี่ยมเยียนให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และพูดคุยกับพี่น้องประชาชนที่มารอใช้บริการโดยสารรถไฟ สร้างความเชื่อมั่นใจ อุ่นใจแก่พี่น้องประชาชน และยังใช้โอกาสนี้สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ที่ทุกคนจะต้องให้ความสำคัญในการป้องกันตนเองทุกสถานที่ ทุกโอกาส เพื่อร่วมกันหยุดการกระจายของเชื้อ โดยได้มอบสิ่งของ อุปกรณ์ในการป้องกันตนเองให้แก่เจ้าหน้าที่ และผู้โดยสารที่มารอใช้บริการรถไฟยังสถานีต่าง ๆ อีกด้วย
โดยแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า “พี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ ใช้บริการรถไฟในการโดยสารและการขนส่งสินค้า จึงจำเป็นจะต้องยกระดับมาตรการในการรักษาความปลอดภัยเส้นทางขบวนรถไฟ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นอุ่นใจให้แก่พี่น้องประชาชน โดยที่ผ่านมามีการบูรณาการการทำงานจากทุกภาคส่วน ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่การรถไฟ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น กำลังภาคประชาชน ในการรักษาความปลอดภัยขบวนรถไฟ ซึ่งนอกจากการรักษาความปลอดภัยในทุกขบวนที่ผ่านเส้นทางแล้ว เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนยังคงจะต้องรับมือกับสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ควบคู่กันไปอีกด้วย วันนี้จะได้นำส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดลงพื้นที่จริง จุดบกพร่องต้องแก้ไขต้องรีบดำเนินการโดยด่วนๆจุดไหนที่ดีอยู่แล้ว ก็ให้รักษามาตรฐานเหล่านั้นไว้ ต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่ใช้บริการรถไฟ ปฏิบัติตามขั้นตอนของการรถไฟอย่างเคร่งครัด ที่ให้ผู้โดยสารทุกคนสวมหน้ากากอนามัย วัดอุณหภูมิร่างกาย เว้นระยะห่าง เป็นไปตามที่ ศบค. กำหนด และหากพบสิ่งผิดปกติในระหว่างการเดินทางให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่โดยด่วน”
ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลามีสถานีรถไฟจำนวน 26 สถานี ซึ่งมีความยาวรางรถไฟรวม 197.5 กิโลเมตร แต่เดิมนั้นมีขบวนเดินรถขึ้นลงกว่า 20 ขบวน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ปัจจุบันจึงตัดเหลือเพียง 10 ขบวนต่อวันเท่านั้น โดยได้แบ่งความรับผิดชอบให้กับหน่วยเฉพาะกิจประจำพื้นที่ ปฏิบัติภารกิจในการรักษาความปลอดภัย รับผิดชอบเขตรอยต่อจุดเสี่ยง จุดล่อแหลม ที่มีเส้นทางขบวนรถไฟผ่าน เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดจากเหตุการณ์ความก่อกวนอันจะได้รับความเสียหาย และให้การรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถให้บริการพี่น้องประชาชนผู้รับบริการเกิดความปลอดภัยสูงสุดในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน สร้างความเชื่อมั่นในบริการของภาครัฐ ทั้งนี้มีการบูรณาการร่วมกำลังทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในมาตรการรักษาความปลอดภัย เฝ้าสังเกตสิ่งผิดปกติ ตลอดจนบูรณาการกล้องวงจรปิด เครือข่ายสื่อสาร เชื่อมโยงการทำงาน ให้เกิดประสิทธิภาพ
*******************************