จากการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 จังหวัดยะลา ได้ออกคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 ลา ที่ 77/2564 เรื่อง ขยายระยะเวลาปิดสถานที่เสี่ยง และกำหนดมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อ 28 พ.ค 64 ซึ่งได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการเดินทางเข้าพื้นที่จังหวัดยะลา และมาตรการเกี่ยวกับร้านอาหารและเครื่องดื่ม นั้น
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่จังหวัดยะลา ยังพบผู้ติดเชื้ออยู่อย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2564 มียอดติดเชื้อรวม 485 ราย และจากการติดตามการสอบสวนโรคพบว่าสาเหตุเกิดจากการสัมผัสบุคคลที่เดินทางมาจากต่างพื้นที่มียอดผู้ติดเชื้อรวมแล้วมาทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว หมู่บ้าน ชุมชน รวมทั้งยังมีความเสี่ยงในสถานที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีคนเข้าไปใช้บริการร่วมกัน จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและยับยั้งการระบาดของโรคมิให้แพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง และกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน
ล่าสุด นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการ จ.ยะลา /ประธานกรรมการโรคติดต่อ จ.ยะลา /ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดยะลา ได้ออกคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 จังหวัดยะลา ที่ 89/2564 กำหนดมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบุคคลที่เดินทางเข้า – ออกพื้นที่จังหวัดยะลา และมาตรการเกี่ยวกับร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม
โดยงดการเดินทางเข้า – ออกพื้นที่จังหวัดยะลา เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ให้แจ้งต่อหัวหน้าด่านตรวจ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำด่านตรวจ หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านตรวจเพื่อใช้ดุลยพินิจในการกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และให้ผู้ที่เดินทางเข้ามายังพื้นที่จังหวัดยะลาสแกน QR Code (YALA SAFE ALERT) ณ ด่านตรวจรอยต่อพื้นที่จังหวัด และให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ในพื้นที่ ทันที มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2564
และ ให้ร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ร้านน้ำชา กาแฟ รวมทั้งร้านจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อื่นๆ งดมิให้รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มในร้าน โดยให้จำหน่ายในลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น และเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 22.00 น. โดยให้ผู้บริการจัดทำเครื่องหมายการเว้นระยะการเข้าคิวซื้อสินค้าหรือชำระคำบริการไม่น้อยกว่า 2 เมตร เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและความแออัดของผู้รับบริการ จัดให้มีจุดบริการล้างมือหรือเจลล้างมือให้ผู้รับบริการก่อนเข้าใช้บริการ และให้ผู้บริการและผู้รับบริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ถือเป็นความผิดต้องรับโทษตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และหรือมีความผิดต้องรับโทษตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
***************************************