วันศุกร์, 24 มกราคม 2568

3 ฝ่ายชายแดนใต้ ร่วมแถลง สรุปผลการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาและพัฒนา จชต.

           เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เวลา 08.40 น. ที่ ห้องปัญจเพชร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พันเอก เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วย พันตำรวจเอก วศิน จินตเสถียร ผู้ช่วยโฆษกกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้  และ นายธีรพงษ์  เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ / โฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมแถลงข่าวชี้แจงการปฏิบัติงานในห้วงเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

           โดย พันเอก เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ในห้วงเดือน มิถุนายน 2564 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ปฏิบัติภารกิจในการควบคุมพื้นที่ ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในห้วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และช่วยเหลือภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งด้านการควบคุมพื้นที่และการบังคับใช้กฎหมายตามที่หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ได้ทำการสืบทราบ รวมทั้งได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวภาคประชาชนว่าพบบุคคล ต้องสงสัยมาพักหลบซ่อนอยู่ในรีสอร์ทแห่งหนึ่งทราบชื่อภายหลังคืออาวาดา รีสอร์ท หมู่3 ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ภายหลังรับแจ้งข่าวจึงได้ทำการตรวจสอบประวัติและพฤติกรรมพบเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พักหลบซ่อนอยู่จริงจึงได้สนธิกาลัง 3 ฝ่าย เข้าทำการตรวจพิสูจน์ทราบเพื่อบังคับใช้กฎหมาย หน่วยได้ดำเนินตามขั้นตอนในการบังคับใช้กฎหมายด้วยความโปร่งใสและใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ภายใต้การมีส่วนร่วมและรับรู้ของผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนในพื้นที่ในการช่วยเจรจาเกลี้ยกล่อมกว่า 6 ชั่วโมง เพื่อให้คนร้ายมอบตัวไปต่อสู้คดีแต่กลุ่มคนร้ายไม่ยินยอมและได้ใช้อาวุธไม่ทราบชนิดและขนาดยิงใส่เจ้าหน้าที่เป็นระยะๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อเปิดทางหนี เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องตอบโต้เพื่อป้องกันตัว จนนำไปสู่การสูญเสียดังกล่าว อย่างไรก็ตามภายหลังเกิดเหตุได้มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์บิดเบือนข้อเท็จจริงและเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อสร้างความเห็นใจพร้อมฉวยโอกาสเรียกรับเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้ที่สูญเสีย จึงใคร่ขอยืนยันเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันอีกครั้งว่า ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้ความพยายามในการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการ และขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมายตามความจำเป็นด้วยความระมัดระวังภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ยังไม่สัมฤทธิ์ผลเพราะคนร้ายเปิดฉากยิงใส่อยู่ตลอดเวลาจึงจำเป็นต้องตอบโต้เพื่อป้องกันตัวจนนำไปสู่ความสูญเสียดังกล่าว และเป็นความสูญเสียที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือเจ้าหน้าที่รัฐเพราะทุกคนคือ พี่น้องร่วมชาติไทย จึงขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับญาติและครอบครัวผู้สูญเสียไว้ ณ โอกาสนี้อีกครั้งหนึ่ง สำหรับการสร้างรั้วชายแดนไทย-มาเลเซีย การสร้างรั้วชายแดนไทย-มาเลเซีย เป็นการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นการสกัดกั้น จำกัดการเคลื่อนย้ายข้ามแดน ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง การหลบหนีเข้าเมือง การนำเข้าอุปกรณ์ อาวุธและการสนับสนุนต่าง ๆ ในการก่อเหตุ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันชายแดน รวมทั้งพัฒนาระบบป้องกัน ระบบการจัดการชายแดน แก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อนที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ รวมถึงป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรน่า 2019 (โควิด-19) ผ่านผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และการสร้างรั้วชายแดนจะทาให้สามารถพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสังคม จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคตได้เป็นอย่างดี ตอบสนองความต้องการของประชาชนในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะตลิ่ง บริเวณพื้นที่ติดริมแม่น้าโก-ลก โดยกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการ ตามความเร่งด่วน 3 ลำดับ ได้แก่ ลำดับที่ 1 แนวชายแดนพื้นที่อำเภอตากใบ ลำดับที่ 2 แนวชายแดนพื้นที่ อำเภอสุไหงโก-ลก ลำดับที่ 3 แนวชายแดนพื้นที่ อำเภอแว้ง ซึ่งจะดำเนินการในระยะเร่งด่วน ลำดับ 1 ก่อน โดยงบประมาณจำนวน 467 ล้านบาท ใช้ในการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง เพื่อป้องกันบ้านเรือนและที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่ไม่ให้ถูกกัดเซาะในฤดูน้ำหลาก ในส่วนการตรวจสอบของคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อกรณีของ นายตอเล๊ะ ยะ ตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โดยหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 46 ได้เชิญตัว นาย ตอเล๊ะ ยะ และนาย ตัรมีซี เจะเต๊ะ ซึ่งต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเกี่ยวกับการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ไปยัง ณ ศูนย์ซักถามกรมทหารพรานที่ 46 ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2564 โดยขั้นตอนการปฏิบัติหน่วยได้แจ้งญาติของบุคคลทั้งสองผู้นำท้องที่ท้องถิ่นรวมทั้งแจ้งให้ทราบถึงวิธีปฏิบัติตามขั้นตอน โดยทั้งสองได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว หน่วยจึงยุติการควบคุมตัว พร้อมนำไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลรือเสาะ ผลเป็นปกติ จึงได้นำไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจภูธรรือเสาะ แล้วมอบตัวให้กับญาติ รวมทั้งชี้แจงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งญาติก็เข้าใจเป็นอย่างดี ทั้งนี้ในระหว่างการควบคุมตัว หน่วยเปิดโอกาสให้ญาติเข้าเยี่ยมได้ทุกวัน ต่อมาได้มีการโพสข้อความในเพจเฟสบุ๊คว่า นาย ตอเละ ยะ หลังจากกลับมาอยู่บ้านได้เกิดอาการหวาดกลัว กล่าวว่าทหารให้รับสารภาพในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำและข่มขู่ว่าจะช๊อตด้วยไฟฟ้า สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมในสังคม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้อำนวยความสะดวกให้คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าตรวจเยี่ยมศูนย์ซักถาม ทั้ง 6 ศูนย์ ในพื้นที่รวมทั้งที่บ้านของนาย ตอเล๊ะ ยะ ผลจากการตรวจสอบ คณะกรรมการได้เสนอแนะแนวทางการรักษา สิทธิในการเยียวยา การให้ความช่วยเหลือขั้นต้นรวมไปถึงช่วยเหลือในกระบวนการรักษาหากมีอาการเจ็บป่วยจริง แต่เจ้าตัวได้มีการปฏิเสธ ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการมีมติจะลงพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาเพื่อไม่ให้ผู้ใดผู้หนึ่ง ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดต่อไป ในด้านการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมและการช่วยเหลือประชาชน ได้ร่วมส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมและดูแลพี่น้องประชาชนในหลายๆ ด้าน เช่น การส่งมอบบ้านตามโครงการหน่วยเฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างการแบ่งปันและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในนเดือน มิถุนายน ได้ดำเนินการส่งมอบบ้านให้แก่พี่น้องประชาชนแล้วจำนวน 6 หลัง นอกจากนี้ศูนย์สันติวิธียังได้จัดพิธีรับพระราชทานพันธุ์ไก่กระดูกดำและไก่ประดู่หางดำ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้กับประชาชนในพื้นที่ทุกอำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 37 อำเภอ อำเภอละ 100 ตัว รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,700 ตัว การช่วยเหลือประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และ ผู้บังคับหน่วย ในระดับต่างๆ ได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วยการตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ มอบสิ่งของอุปโภค บริโภค รวมทั้งเวชภัณฑ์ป้องกันเชื้อไวรัส จัดตั้งโรงครัวประกอบอาหารเพื่อแจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อน ในชุมชนที่ล็อกดาวน์ ฉีดพ่นฆ่าเชื้อไวรัสให้กับแหล่งชุมชน วัด มัสยิด รวมทั้ง โรงเรียนต่างๆ จำนวน 165 แห่ง จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมในพื้นที่กองพลพัฒนาที่ 4 อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา จำนวน 200 เตียง เพื่อรองรับ ผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดสงขลา และพื้นที่ข้างเคียงที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในหน่วยทหารแล้ว จำนวน 3 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ทั้งสิ้น 400 เตียง ทั้งนี้ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้สั่งการให้หน่วยในพื้นที่ให้การสนับสนุนทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้น เพิ่มความเข้มงวดในการลาดตระเวนตามแนวชายแดนเพื่อสกัดกั้นผู้ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมายที่อาจนำพา เชื้อไวรัสเข้ามาแพร่กระจายในชุมชนและหมู่บ้าน รวมทั้งให้ปรับด่านตรวจ จุดตรวจ เป็นจุดคัดกรองโควิด อีกทั้งเน้นย้ำ กำลังพลให้ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างแก่ประชาชนในพื้นที่ในการป้องกันตนเองและครอบครัวให้รอดพ้นจากการติดเชื้อโควิด 19 แม่ทัพภาคที่ 4 ประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ไทย-มาเลเซีย ร่วมกับ ผู้บัญชาการกองกำลัง กองทัพบกสนามภาคตะวันตกมาเลเซีย วันที่ 29 มิถุนายน 2564 เวลา 13.30 น. ที่ สำนักงานประสานงานชายแดนไทย-มาเลเซีย ค่ายเสนาณรงค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ไทย มาเลเซีย ได้จัดการประชุมคณะกรรมการชายแดน ส่วนภูมิภาค ไทย-มาเลเซีย (Rigional Border committee ) หรือ (RBC) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยเป็นการประชุมผ่านระบบทางไกลให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ในการแก้ไขปัญหากับสถานการณ์ รวมทั้งนโยบายต่างๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมี พลโท เกรียงไกรศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 4/ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (ฝ่ายไทย) และ พลโท ดาโต๊ะ โมฮัมหมัด ฮาฟิซซีเดอีน บิน จันทัน ผู้บัญชาการกองกำลังกองทัพบกสนามภาคตะวันตกมาเลเซีย / ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (ฝ่ายมาเลเซีย) เป็นประธานร่วม พร้อมด้วย พลตรี ศานติ ศกุนตนาค ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 /ผู้บัญชาการกองกำลังเทพสตรี และประธาน คณะทำงานทั้ง 6 คณะ ซึ่งประกอบด้วย คณะทำงานด้านงานข่าวและปฎิบัติการจิตวิทยา คณะทำงานทางบก คณะทำงานทางทะเล คณะทำงานทางอากาศ คณะทำงานจัดการชายแดน โดย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ( NSC) มาเลเซีย, คณะทำงานจัดการต่อภัยพิบัติ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (NADMA).มาเลเซีย เข้าร่วมประชุม โดยการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด 19 ทำให้การประชุม RBC.ที่แต่เดิมนั้นได้จัดการประชุมขึ้นปีละ 2 ครั้ง โดยฝ่ายไทยและมาเลเซียจะสลับกันเป็นเจ้าภาพ ต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็นการประชุมทางไกลผ่านดาวเทียม โดยประเด็นที่สองฝ่าย ต้องทำความเข้าใจ และหาแนวทางความร่วมมือร่วมกันมีอยู่ 2 ประเด็นเร่งด่วน คือ แผนการปฏิบัติในการตั้งจุดตรวจร่วม ไทย-มาเลเซีย เพื่อผนึกกำลังร่วมในการประสานงานของกำลังทั้งสองประเทศ ในการสกัดกั้นป้องกันการลักลอบข้ามแดน อย่างผิดกฎหมายตามแนวชายแดนและอาจนำพาเชื้อไวรัสโควิด 19 เข้ามาระบาดแก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ ตลอดจนความร่วมมือในการลาดตระเวนร่วมกันทั้งทางบก ทางทะเล และพื้นที่ล่อแหลม ที่นอกจากจะเป็นการเฝ้าระวัง การเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายแล้ว ยังรวมไปถึงการเฝ้าระวัง การลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมาย และยาเสพติด อีกด้วย ซึ่งการประชุมได้บรรลุความเข้าใจ ในความร่วมมือระหว่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ในการร่วมมือแก้ไขปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดน อันจะนำมาซึ่งความสัมพันธ์อันดี สันติสุขความมั่นคงและเสถียรภาพในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ได้กำหนดให้ทหารกองประจำการผลัดที่ 1/64 เข้ารายงานตัวยังหน่วยต่างๆ ทั่วประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 4 จะมีทหารใหม่เข้ารายงานตัว 4,156 นาย ทั้งนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่กำลังพลในหน่วยฝึกทหารใหม่ทุกนาย ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อจะให้ได้ทหารที่ดีมีคุณภาพปฏิบัติภารกิจทางทหาร และช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ทั้งยังกำชับถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 มีความรุนแรงในปัจจุบัน ให้หน่วยฝึกปฏิบัติตามมาตรการป้องกันของกองทัพบก และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยให้หน่วยฝึกวางแผนการปฏิบัติ ให้มีความเหมาะสม ระมัดระวังเรื่องสภาพอากาศ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดโรคลมร้อน หรือปัญหาสุขภาพอื่นได้ ตลอดจนดูแลสวัสดิการ และสิทธิต่างๆให้เป็นไปตามสิทธิ์ ทั้งให้หน่วยจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้จัดที่พัก จัดเตรียมมีสถานที่ประกอบพิธีศาสนกิจให้พร้อม รวมทั้งอาหารที่มีคุณภาพปริมาณเพียงพอ และอื่นๆ อย่างเหมาะสมอีกด้วย รวมทั้งยังได้เน้นย้ำ นโยบายการเตรียมการรับทหารใหม่ให้เป็นไปตามนโยบายผู้บัญชาการทหารบกที่ให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพดำเนินการรับทหารใหม่ ที่จะเดินทางเข้ามารายงานตัว จึงจะมีการแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ 1.ขั้นเตรียมการ คือ ภายหลังจากการฝึกครูและผู้ช่วยครูเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการกักตัวเจ้าหน้าที่จำนวน 14 วัน ก่อนเริ่มทำการฝึก โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 16-30 มิถุนายน 2564 2.การดำเนินวิธีในการรับทหารใหม่ ซึ่งจะมีการควบคุมการรายงานตัวในสถานที่ที่ว่าการอำเภอ หรือมณฑลทหารบก และแยกกลุ่มทหารที่รายงานตัวออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ผู้ที่มีอาการและเสี่ยง 2.ไม่มีอาการแต่มีความเสี่ยง และ3.ไม่มีอาการ ไม่มีความเสี่ยง รวมถึงในการเคลื่อนย้ายจะมีการเพิ่มรถให้มากขึ้น จำนวนเที่ยวของรถมีมากขึ้น มีการเว้นระยะห่างระหว่างการโดยสาร ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นจะกักตัวเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในภารกิจดังกล่าว และ 3.การปฏิบัติการในพื้นที่ของหน่วยฝึกทหารใหม่ คือ การฝึกในลักษณะปิด (บับเบิ้ลเทรนนิ่งแอเรีย) มีทั้งการตรวจสอบ การคัดกรอง การกักตัวและมาตรการของการควบคุมในการพบปะ โดยจำกัดสถานที่ เพื่อลดการนำเชื้อเข้าสู่หน่วยฝึก และลดการกระจายเชื้อเข้าสู่หน่วยทหารและชุมชน รวมถึงเพื่อควบคุมการติดเชื้อของหน่วยฝึกในกรณีที่มีการแพร่ระบาดอีกด้วย

               ขณะที่ พันตำรวจเอก วศิน จินตเสถียร ผู้ช่วยโฆษกกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สถิติการเกิดเหตุเดือน มิถุนายน 2564 เกิดเหตุก่อความไม่สงบ 1 เหตุ เหตุปะทะ 1 เหตุ มีการออกหมายจับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาคดีความมั่นคง จำนวน 15 หมาย จับกุม 6 หมาย มีการออกหมายจับ ตาม พ.ร.ก.ฯ จำนวน 2 หมาย จับกุม 2 หมาย ในส่วนของความคืบหน้าคดีสำคัญ เหตุเจ้าหน้าขึ้นพิสูจน์ทราบขนำ พื้นที่ป่าภูเขาและเกิดการยิงปะทะกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ในพื้นที่บ้านกาแย ตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 พบว่าเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ในคดีความมั่นคง ที่กำลังหลบหนี ได้ออกหมายจับบุคคลทั้ง ๓ พร้อมประกาศสืบจับไว้แล้ว เหตุเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายปิดล้อมอาวาดารีสอร์ทและเกิดการยิงปะทะคนร้ายเสียชีวิต 2 ราย พื้นที่ ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จว.ปัตตานี เมื่อ 21 มิถุนายน 2564 พบว่าคนร้ายที่เสียชีวิตทั้ง 2 ราย เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับปฏิบัติการ เคลื่อนไหวก่อเหตุอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดปัตตานี มีหมายจับ ในคดีความมั่นคง รวมกัน ๗ หมาย คดีที่สำคัญ คดียิง เจ้าหน้าที่สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนเสียชีวิต ในพื้นที่ ตำบลบางปอ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2560 คดียิง ราษฎร 2 ราย ในพื้นที่ ตำบลลุโบะยิไร อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่  9 กรกฎาคม 2560 คดียิง เจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองตำบลประจัน เสียชีวิต 4 นาย ในพื้นที่ ตำบลประจัน อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 คดีลอบวางระเบิด จำนวน 8 จุด (ระเบิด ๑๑ ลูก) ในพื้นที่ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 คดียิง เจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองตำบลประจัน เสียชีวิต 4 นาย ในพื้นที่ ตำบลประจัน อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 และขอประชาสัมพันธ์ เรื่องการกระทำความผิด ช่วยเหลือ ให้ที่พักผิงแก่ผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189  ผู้ใด ช่วยผู้อื่น ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้น หรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 189 นั้น ต้องเป็นการช่วยผู้กระทำผิด ช่วยผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด ให้พำนักแก่ผู้นั้น ซึ่งผู้ที่ช่วยนั้นต้องมีเจตนา คือรู้หรือควรรู้ว่าบุคคลนั้น เป็นผู้กระทำความผิดหรือรู้ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ต้องหากระทำความผิด และมีมูลเหตุจูงใจเพื่อไม่ให้ต้องโทษ หรือเพื่อไม่ให้ ถูกจับกุม

             ด้าน นายธีรพงษ์  เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ / โฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ฝากเน้นย้ำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ในเรื่องของการประกาศใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมการระบาดไวรัสโควิด-19 โดยกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ 10 จังหวัด ซึ่งมีพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา รวมอยู่ด้วย เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง พร้อมฝากระมัดระวังในเรื่องของการสวมหน้ากาก ให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อออกจากบ้าน ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์  และงดทำกิจกรรมรวมกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนกรกฎาคมมีหลายปัจจัยที่มีความสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นในช่วงเทศกาลฮารีรายออีดีลอัฎฮา โดยจะมีการพบปะญาติพี่น้อง มีการประกอบอาหาร ขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังและดูแลตัวเอง ปฏิบัติตามมาตรการของสำนักจุฬาราชมนตรีอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการในการประกอบศาสนกิจและวิถีปฏิบัติ รวมไปถึงเป็นช่วงฤดูผลผลิตทุเรียน ซึ่งจะมีพ่อค้าคนกลางจากต่างพื้นที่เข้ามารับซื้อทุเรียนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ของทุกปี จะมีฝนตกชุกในพื้นที่และจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่อยู่ติดชายแดนประเทศมาเลเซียซึ่งขณะนี้ประเทศมาเลเซียยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดที่รุนแรงของโรคได้ จึงอยากฝากให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ดูแลตัวเอง รวมทั้งขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนอีกครั้งหนึ่ง  ได้โปรดปฏิบัติตามมาตรการของจังหวัดต่างๆ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ในวันที่ 1-7 กรกฎาคม 2564 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เปิดโรงครัวพระราชทานซึ่งได้รับพระราชทานจากมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ร่วมกันประกอบอาหารเพื่อมอบให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกปิดหมู่บ้านหรือได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ซึ่งเป็นความห่วงใยจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังได้ร่วมกับเยาวชนในพื้นที่ จัดทำเพลงขึ้นมา 1 เพลง ใช้ชื่อว่า รวมพลัง…เพื่อวันใหม่  เนื้อหากล่าวถึง ความลำบาก อันเนื่องมาจากโรคโควิด-19  ที่สร้างผลกระทบแก่พี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า เพื่อเป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจแก่ทุกส่วนทุกฝ่าย

**************************