พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตามในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้พูดคุยสื่อสารไปยังพี่น้องประชาชน ท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาส ยังสามารถประกอบอาชีพ ทำงานได้ อย่างการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ อาทิ ปู ไก่ โดยเฉพาะการส่งเสริมปลูกพืชพลังงาน ซึ่งทาง ศอ.บต.ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งชีวมวล และชีวภาพกระจายอยู่หลายแห่ง ดังนั้นการปลูกพืชพลังงานเป็นอีหนึ่งอาชีพที่สามารถตอบสนองความต้องการได้
ศอ.บต.ได้เล็งเห็นโอกาส ได้ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน ไผ่ กระถินเทพา หญ้าเนเปียร์ และไม้โตเร็วอื่น ๆ อย่างการปลูกไผ่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว นำร่องในพื้นที่จังหวัดยะลา กว่า 6,000 ไร่ ขณะนี้เริ่มตัดต้นไผ่มาแปรรูปและส่งให้ทางโรงไฟฟ้าได้แล้ว ส่วนในปี 2564 ได้ขยายพื้นที่ไปอีกประมาณ 3,000 ไร่ ซึ่งยังไม่พอต่อความต้องการของโรงไฟฟ้า 15 แห่ง และที่กำลังก่อสร้างอีก 3 แห่ง คาดว่าพื้นที่ปลูกจะต้อง 50,000 – 60,000 ไร่
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวย้ำว่า เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ ศอ.บต.เข้ามาส่งเสริมในปัจจุบันอย่างครบวงจร ทั้งการเพาะพันธุ์การขยายพันธุ์ การแปรรูป และส่งเศษวัสดุเข้าโรงไฟฟ้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานในการสร้างโรงงานแปรรูปหรือโรงสับ รวม 6 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา ขณะนี้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ทั้งหมดนี้สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ในภาวะนี้ได้เป็นอย่างดี และมีตลาดรองรับที่ยั่งยืนครบวงจร ที่สำคัญสามารถคืนพื้นที่ป่า ความสมบูรณ์กลับคืนมาได้ ตามที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องเศรษฐกิจชีวิภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งพืชพลังงานเหล่านี้ โดยเฉพาะต้นไผ่ สามารถตอบโจทย์นี้ได้ ทั้งนี้เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มองเห็นโอกาสทั้งในเชิงเศรษฐกิจและฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม
****************************