พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15/ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วย พันเอกอิศรา จันทะกระยอม ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 153/หัวหน้าคณะทำงานฯที่ 2 ลงพื้นที่เยี่ยมเยียน พบปะ ให้กำลังใจ พี่น้องกลุ่มเปราะบางในชุมชนบ้านไร่ และชุมชนบ้านบ่อหว้า หมู่ที่ 4 ตำบลปากล่อ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1.นางสาว พรพรรณ พัดคง อายุ 36 ปี ผู้ป่วยติดเตียง เป็นโรคอัมพาต,2. นางคล้าย ด้วยเมืองใหม่ อายุ 94 ปี ผู้ป่วยติดเตียง เป็นโรคชรา และ 3. นายกิม ร่วมรักษ์ อายุ 82 ปี เป็นผู้พิการทางสายตา โดยได้พูดคุยสอบถามอาการ สภาพความเป็นอยู่ พร้อมมอบห่วงใย และมอบถุงชีพเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ซึ่งเป็นชุมชนดังกล่าว เป็นชุมชนไทยพุทธ ที่มีชุมชนมุสลิมล้อมรอบ โดยมีประชาชนไทยพุทธอาศัยอยู่ในชุมชน จำนวน 250 ครัวเรือน มีประชากรจำนวน 580 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ของชุมชน เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งอาศัยอยู่โดยลำพัง ขาดคนดูแล บุตรหลานออกไปทำงานในต่างพื้นที่ และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิค -19 จากการลงพื้นที่ได้รับทราบปัญหา และความต้องการของชุมชนที่จะให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล ยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้พี่น้องไทยพุทธในพื้นที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ พร้อมกล่าวเน้นย้ำกับพี่น้องไทยพุทธว่า พวกเราคือ “ครอบครัวเดียวกัน” ตลอดจนมอบถุงยังชีพ สร้างความซาบซึ้งใจ ให้แก่พี่น้องกลุ่มเปราะบางในพื้นที่เป็นอย่างมาก
โดยศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้บูรณาการขับเคลื่อนแผนงานการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ส่วนราชการในพื้นที่ สนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนไทยพุทธในชุมชน ตลอดจนกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ยากไร้ ให้สามารถพึ่งพาตนเอง และมีชีวิตที่ดีขึ้น เกิดความเชื่อมั่นและรู้สึกปลอดภัยในพื้นที่ รวมถึงเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหา และตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด และเกิดประโยชน์สูงสุด แก่พี่น้องประชาชนไทยพุทธ และไทยมุสลิมในพื้นที่ อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม
จากนั้น พลตรีไพศาล เดินทางไปยังจุดตรวจคัดกรองโควิด-19 หน้าวัดธนาภิมุข เพื่อให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่ และพี่น้องสมาชิกโครงการราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน(อรบ.) กองพัน อรบ.โคกโพธิ์ที่ 2 รวมถึงได้เดินทางต่อไปยัง วัดธนาภิมุข ตำบลปากล่อ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี กราบนมัสการ ถวายภัตตาหารเพลพระสงฆ์ที่อุปสมบทในโครงการอุปสมบทหมู่เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประจำปี 2564 และเพื่อขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง กิจกรรมการสนับสนุนภัตตาหารแด่พระสงฆ์ในพื้นที่ล่อแหลม เสี่ยงภัย ไม่สามารถบิณฑบาตได้ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 อย่างเคร่งครัด
ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน
“ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ” แนวทางตามโครงการพระราชดำริ เป็นการปฎิบัติตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง โดยมุ่งหวังมิให้เกิดการละทิ้งถิ่นฐานของประชาชนในพื้นที่ จชต. ส่งเสริมการประกอบอาชีพของชุมชนไทยพุทธให้สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงดูตนเอง และครอบครัว รวมถึงการเข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือ กลุ่มเปราะบางในพื้นที่ อาทิเช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อการพึ่งพาตนเอง สร้างแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชนกลับมายังถิ่นฐานเดิม โดยโครงการดูแลชุมชนไทยพุทธ และกลุ่มเปราะบาง ของศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มี 3 โครงการ ได้แก่
1.โครงการฟื้นฟูไทยพุทธเสริมสร้าง เพื่อเข้าไปดูแล ส่งเสริม สนับสนุนขั้นต้น ให้แก่ ประชาชนในพื้นที่ในการประกอบอาชีพทางการเกษตร และการเลี้ยงสัตว์ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ ลงพื้นที่สอบถามความต้องการในการประกอบอาชีพเพิ่มเติม ทั้งด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และความต้องการอื่นๆ ของพี่น้องประชาชนในชุมชนไทยพุทธ ในพื้นที่ จชต. เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างความเชื่อมั่นเกิดความรู้สึกปลอดภัยในพื้นที่ สร้างเข้มแข็งขึ้นในชุมชน เกิดสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิด ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ไม่ละทิ้งถิ่นฐาน
2.โครงการพัฒนาศาสนสถาน เพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์ ซ่อมแซม วัด สำนักสงฆ์ และที่พักสงฆ์ ที่ชำรุดทรุดโทรมให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรงเพื่อใช้ในการปฎิบัติศาสนพิธีได้
3.โครงการสนับสนุนภัตตาหารแด่พระสงฆ์ในพื้นที่ชุมชนล่อแหลม / เสี่ยงภัยไม่สามารถออกบิณฑบาตได้ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพระสงฆ์ที่อยู่ในพื้นที่ล่อแหลม/เสี่ยงภัย ให้มีภัตตาหารที่เพียงพอ สามารถปฏิบัติติศาสนกิจได้ และไม่ละทิ้งวัด
***********************************