วันพฤหัสบดี, 23 มกราคม 2568

การละเล่นพื้นเมือง “กลองบานอ” หนึ่งในศิลปวัฒนธรรมร่วมอาเซียน ไทย-มาเลเซีย

08 ก.ย. 2021
23

           การละเล่นกลองบานอ เป็นศิลปะการแสดงที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวไทยมุสลิมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และชาวมาเลเซียของรัฐกลันตันและตรังกานู โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส ได้ระบุไว้ในเอกสาร 1 อำเภอ 1 อัตลักษณ์ความภาคภูมิใจของอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ว่า การละเล่นกลองบานอมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและน่าสนใจ คำว่า “บานอ” มาจากภาษามาเลเซีย “รือบานอ” ได้รับอิทธิพลจากรัฐกลันตัน บานอเป็นการละเล่นที่นิยมกันมากแถบอำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส บานอเป็นกลองขนาดใหญ่ที่พัฒนามาจากกลองเดาะตุ๊ ซึ่งเป็นของชาวนครเมกกะในสมัยโบราณ

            นายสะมะแอ  บินเจ๊ะแม อายุ 72 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 2 บ้านลุโบ๊ะดาลัม ตำบลแว้ง อำเภอแว้ง ประธานกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมเยาวชนบ้านยะหอ เล่าให้ฟังว่า เริ่มเล่นกลองบานอตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เพราะคุณพ่อเป็นหัวหน้าทีมตีกลองบานอ ถึงตอนนี้สืบทอดกันมา 4 รุ่นแล้ว การละเล่นกลองบานอ จำเป็นต้องทำกลองเองด้วย โดยใช้ไม้หลุมพอ ตัวกลองบานอ ทำจากไม้เนื้อแข็ง มีขนาดเส้นรอบวงหน้ากลองประมาณ 50 นิ้ว ตัวกลองมีลักษณะเรียวไปทางด้านหลัง การตีกลองบานอมี 3 จังหวะ จะต้องใช้กลอง 7 ตัว คนตีรวม 14 คน นิยมตีในงานแต่งงาน งานมาโซะยาวีหรือเข้าสุนัต การต้อนรับในกิจกรรมต่าง ๆ สมัยก่อนจะมีการสวดบทขอพรก่อนตีกลองบานอ ซึ่งเป็นความเชื่อสืบต่อกันมา แต่ปัจจุบันไม่ได้นำใช้

            “…ความภาคภูมิใจคือได้ตีหน้าพระที่นั่ง พระเทพฯ กว่า 20 ปี มาแล้วช่วงงานของดีเมืองนรา ในงานกาชาดก็เคยไปตีโชว์ช่วงเปิดงาน อยากให้มีการอนุรักษ์สืบทอด กลัวว่าบานอการละเล่นพื้นบ้านจะสูญหายไป การไม่ให้หายไปก็ต้องพยายามสอนลูกหลาน ให้อนุรักษ์ไว้ ขณะที่วัสดุในการทำอย่างหนังควาย หวายก็หายาก อยากให้หน่วยงานมาสนับสนุน…”

            นายสะมะแอ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้เปิดสอนให้กับเด็ก ๆ และเยาวชนในหมู่บ้าน มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย กว่า 20 คน อายุน้อยที่สุด 8 ขวบ เรียนทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ หลังเลิกเรียนตาดีกา โดยใช้สถานที่กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมเยาวชนบ้านยะหอ คณะดาวทอง ส่วนที่ไหนต้องการให้ไปฝึกสอน ก็พร้อมจะเป็นวิทยากรให้ถึงหมู่บ้าน แต่ตอนนี้อยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงหยุดสอนชั่วคราว

            ด้านนายคมวิทย์  สุขเสนีย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยทางสังคมวิทยา ยังไม่ได้ข้อสรุปว่ากลองนาบอเป็นการละเล่นของไทยหรือมาเลเซีย เมื่อก่อนไม่มีเส้นแบ่งไทยกับมาเลย์ ได้พยายามศึกษาหารากเง้าว่าจุดเริ่มต้นมาจากไหน เมื่อศึกษาเปรียบเสมือนพี่น้องร่วมดินแดนเดียวกัน ไม่เหมือนตอนนี้ที่มีอาณาเขต มีการเลื่อนไหลของศิลปวัฒนธรรม ยิ่งค้นคว้าประวัติความเป็นมาของการละเล่นกลองบานอแตกต่างกันมาก ทางด้านการสืบทอดส่วนใหญ่จะมีทายาทในครอบครัว ลูกหลาน ใช้การสอนผ่านการติดตามไปดูการแสดง “…ในอดีตมีการตีแข่งขันกันที่เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย ความสัมพันธ์ไม่ใช่แค่ตีแข่งขันอย่างเดียว บางครั้งก็มีการขอซื้อต่อจากชาวบ้าน สร้างรายได้หลักแสนบาท ทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน มองว่ากลุ่มมีอยู่แล้ว เพียงแต่รัฐอาจต้องส่งเสริม ปัจจุบันไม่มีสนามไม่มีพื้นที่ให้แสดง ในแต่ละปีควรมีกิจกรรมที่รัฐสนับสนุนจัดขึ้น รวมถึงให้เงินงบประมาณเพื่อส่งเสริมพัฒนากลุ่ม…”

            ขณะที่นายรูซีลัน  บินลอแม อายุ 21 ปี เยาวชนในพื้นที่ กล่าวว่า ได้เห็นคุณตา คุณพ่อตีกลองบานอมาตั้งแต่เด็ก ๆ มีงานที่ไหนก็ติดตามไปดูการแสดง ก็มีความสนใจ โดยเริ่มฝึกตีกลองบานอตั้งแต่อายุ 14 ปี มองว่าคนที่ตีกลองบานอตอนนี้มีแต่ผู้ใหญ่ ถ้าเราปั้นเยาวชนให้มาตีให้บานออยู่คู่กับพื้นที่ คนรุ่นหลัง ๆ ได้รับทราบและสืบทอดต่อ ๆ กันไป ปัจจุบันการละเล่นกลองบานอ ยังคงเล่นในพื้นที่อำเภอแว้ง อำภอสุไหงโก-ลก และอำเภอสุไหงปาดี โดยหาชมได้ยาก จะเห็นการตีเฉพาะในงานใหญ่ ๆ อย่างงานประจำปีของอำเภอ/จังหวัด ซึ่งการสืบทอดอนุรักษ์ผ่านการจัดงานวัฒนธรรม ประชันการตีกลองระหว่างอำเภอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และให้เป็นการตีกลองบานอแบบดั้งเดิมไม่ประยุกต์ ก็สามารถช่วยให้การละเล่นกลองบานอไม่สูญหายไป เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ทรงคุณค่าของจังหวัดชายแดนภาคใต้

            ขอขอบคุณ : นายอริฟ  หะนิแร บัณฑิตอาสาประจำพื้นที่ โครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้สมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ผู้แปลภาษามลายู และภาพประกอบบางส่วนจากงานวิจัย การเล่นกลองบานอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม ปีงบประมาณ 2559

*********************