วันศุกร์, 24 มกราคม 2568

ผบ.ฉก.นราธิวาส ลาดตระเวนทางน้ำ ตรวจพื้นที่ สั่งคุมเข้ม!! เพิ่มมาตรการตลอดแนวชายแดนไทย – มาเลเซีย

                เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 เวลา 1400 น. ที่ ด่านศุลกากรสุไหงโกลก อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส  และคณะ ลงพื้นที่ตรวจความพร้อม เพื่อเตรียมให้การต้อนรับ พลเอก สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการทหารบก/ เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และคณะเดินทางมาติดตามความคืบหน้า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมพื้นที่ชายแดน ตามแผนงานโครงการก่อสร้างรั้วชายแดนไทย – มาเลเซียแผนการสกัดกั้นตามแนวชายแดน ของหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส รวมถึงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ําสุไหงโกลก และการก่อสร้างรั้วความมั่นคงอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนตรวจแนวชายแดนทางน้ํา และตรวจพื้นที่ที่จะก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ําสุไหงโกลก และพื้นที่ก่อสร้างรั้วความมั่นคงอิเล็กทรอนิกส์

               จากนั้น พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ได้เดินทางต่อไปยัง ด่านศุลกากรตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อลงเรือร่วมลาดตระเวนทางน้ำ กับตำรวจน้ำตากใบ ตรวจพื้นที่ในการดำเนินการก่อสร้างรั้วอิเล็กทรอนิกส์ ตามแนวชายแดน เป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร  พร้อมทั้งตรวจดูพื้นที่การก่อสร้างฐานปฏิบัติการถาวร อีกทั้งยังกำชับให้เพิ่มมาตรการ เข้มงวดในการดูแลรักษาความปลอดภัย ตามลำน้ำตลอดแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ตรวจสอบช่องทางข้ามธรรมชาติ ที่กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทย ด้านจังหวัดนราธิวาส กับรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย อีกทั้งสั่งการให้หน่วยทหารในพื้นที่เพิ่มมาตรการคุมเข้มตลอดแนวชายแดนในพื้นที่รับผิดชอบ อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส การ์ดห้ามตก ต้องตื่นตัวอยู่เสมอ ตลอดจนให้หน่วยบูรณาการการปฎิบัติงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนบังคับใช้กฎหมายตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 และเฝ้าระวังภัยแทรกซ้อนต่อความมั่นคงชายแดนในทุกมิติ รวมถึงการเสริมกำลังตามแนวชายแดน โดยเฉพาะช่องทางที่มีชุมชนหรือหมู่บ้านอาศัยอยู่ใกล้แนวชายแดน การจัดตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด และการจัดตั้งแหล่งข่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฎิบัติงานต่อไป

               ทั้งนี้ พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส กล่าวว่า หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสมีความพร้อม ในการให้การต้อนรับ พลเอก สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการทหารบก/ เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  และคณะ สำหรับการดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมพื้นที่ชายแดน ตามแผนงานโครงการก่อสร้างรั้วชายแดนไทย – มาเลเซีย เริ่มต้นเมื่อปี 2560โดย พลตรี ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งในขณะนั้น ดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส มีเจตนารมณ์ ต้องการให้ สร้างรั้วป้องกันชายแดนขึ้น จึงให้ชุดควบคุม ป้องกันชายแดน เสนอโครงการขึ้นมา เพื่อป้องกันสกัดกั้นยับยั้ง การลักลอบขนย้าย อาวุธ ยาเสพติด แรงงานต่างด้าว สิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ และการคัดกรองบุคคล ตลอดจนการป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 หรือ โรคติดต่อ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 คณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ในคณะกรรมาธิการ วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาให้ผ่านจำนวน 2 รายการ ได้แก่ การก่อสร้างผนังเขื่อนป้องกันตลิ่งระยะทาง 7.528 กิโลเมตร และรั้วความมั่นคงอิเล็กทรอนิกส์ระยะทาง 6 กิโลเมตร ซึ่งแบ่งจ่ายในปีงบประมาณปี 2565 -2567 โดย หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสได้จัดกำลังพลลงพื้นที่ เพื่อพบปะ สร้างความเข้าใจ ถึงเหตุผลและความจำเป็น ในการก่อสร้างรั้วชายแดน และให้ลงนามในหนังสือยินยอม ให้ก่อสร้างรั้วชายแดนในที่ดินของตนซึ่งมีผู้ที่มีที่ดินติดแนวชายแดน จำนวน 293 ราย ได้ยินยอมให้สร้างรั้วชายแดนเพราะเข้าใจในสภาพปัญหาในพื้นที่ และรับทราบว่าในการสร้างรั้วชายแดน ได้เปิดช่องทางบริเวณจุดผ่อนปรนให้สามารถเดินทางเข้า-ออก ตามวิถีชีวิตของประชาชน ตามแนวชายแดน และเหตุผลอีกประการหนึ่งที่ประชาชนที่มีที่ดิน ติดแนวชายแดนยินยอมให้สร้างรั้วชายแดน คือ การที่แนวชายแดน ด้านประเทศมาเลเซียได้สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งตลอดแนวชายแดนทำให้ตลิ่งฝั่งไทยถูกกัดเซาะมาอย่างยาวนาน

               โดยมีวัตถุประสงค์ ในระยะสั้น เพื่อป้องกัน สกัดกั้น ยับยั้งการลักลอบขนย้าย อาวุธ ยาเสพติด แรงงานต่างด้าว สิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ และการคัดกรองบุคคล ตลอดจนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือ โรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และ วัตถุประสงค์ในระยะยาว เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีเอกภาพ และมีประสิทธิภาพสูงสุด/เพื่อให้พื้นที่ชายแดนมีความมั่นคงปลอดภัย สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบริเวณชายแดน อีกทั้งรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดเหตุรุนแรง ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การผ่านข้ามแดนเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และเกิด ความร่วมมือของภาครัฐในระดับต่าง ๆ ระหว่างไทยกับมาเลเชีย

***************************