วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 พันเอกเกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วย พันตำรวจเอก อนุพงษ์ ทัศนา ผู้ช่วยโฆษกกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ พันจ่าโท อนันต์ บุญสำราญ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมแถลงข่าวชี้แจงการปฏิบัติงานในห้วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
พันเอก เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ในห้วงเดือนตุลาคม 2564 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ปฏิบัติภารกิจด้านการควบคุมพื้นที่และบังคับใช้กฎหมาย จากกรณีเจ้าหน้าที่สนธิกำลัง 3 ฝ่าย เข้าบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่หลบซ่อนอยู่ในพื้นที่บ้านฮูแตยือลอ ตำบลตะปอเยาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส โดยได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน จนถึง วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ผลการปฏิบัติ เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 นาย ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 6 คน ยึดอาวุธปืน 6 กระบอก และอุปกรณ์ประกอบระเบิดอีกเป็นจำนวนมาก และการดำเนินการทุกขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมาย พลโทเกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้กำชับในการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด
พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก ดำเนินการภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย รวมทั้งประสานขอความร่วมมือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและ ผู้นำศาสนาในพื้นที่เข้ามาร่วมเจรจาเกลี้ยกล่อมเพื่อให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงออกมามอบตัว ซึ่งไม่ได้รับความร่วมมือแต่อย่างใด กลับใช้อาวุธต่อสู้ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตถึง 2 นาย และ ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิตจำนวน 6 คน ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน กรุณาอย่าได้ให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำผิด ทั้งการให้ที่พักพิง ที่หลบซ่อน หรือจัดหาเสบียง เพราะจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในปีงบประมาณ 2564 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ใช้มาตรการทางกฎหมายจับกุมผู้ต้องหา 4,334 คน ยึดของกลางยาบ้า 2,615,500 เม็ด ไอซ์ 1,543 กก. เฮโรอีน 202 กก. และอื่นๆ อีกหลายรายการ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้เสพยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูไปแล้วกว่า 16,900 คน และด้านการสร้างความเข้าใจและการเสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มุ่งเน้นการปฏิบัติงานในการสร้างความเข้าใจและเสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมได้ส่งมอบบ้านตามโครงการ “หน่วยเฉพาะกิจยะลา ไม่ทิ้งท่าน” ให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้ในพื้นที่ ตำบลกาตอง อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ด้านความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา จชต. กับประเทศในกลุ่มอาเซียน แม่ทัพภาค ที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ให้การต้อนรับ ฯพณฯ ระห์หมัด บูดีมัน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทยและคณะ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งที่ประเทศไทย และเดินทางลงพื้นที่เพื่อรับทราบเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาอินโดนีเซียและไทยได้มีการแลกเปลี่ยนพัฒนาสัมพันธ์ระหว่างกันด้วยดีเสมอมา มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร แบ่งปันประสบการณ์กันอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังได้ให้การสนับสนุน ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบค.ส่วนหน้า) ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบค.ส่วนหน้า นั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้เตรียมแผนสนับสนุนการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล และผู้บัญชาการทหารบก ทั้งการสกัดกั้นตามแนวชายเเดน การสนับสนุน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ร่วมจัดตั้งด่านตรวจโควิด-19 ในพื้นที่ และการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 พร้อมการสนับสนุนทางการแพทย์ โดยศูนย์ประสานการแพทย์ จังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดรถพยาบาลด้วยระบบกู้ชีพ และชุดปฏิบัติการฉุกเฉินพิเศษ จัดเจ้าหน้าที่คัดกรองด้วยชุดตรวจเร็ว (Rapid Antigen Test Kit) ให้การสนับสนุนรถพยาบาลพร้อมเจ้าหน้าที่ ในการปฏิบัติการเชิงรุก และร่วมดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ร่วมกับภาคสาธารณสุขในพื้นที่อีกด้วย
พันตำรวจเอก อนุพงษ์ ทัศนา ผู้ช่วยโฆษกกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สถิติการเกิดเหตุเดือนตุลาคม 64 ที่ผ่านมา เกิดเหตุก่อความไม่สงบ 10 เหตุ เหตุปะทะ 1 เหตุ และเหตุก่อกวน 1 เหตุ ออกหมายจับตามป.วิอาญา คดีความมั่นคง จำนวน 4 หมาย หลบหนีทั้ง 4 ราย และมีการจำหน่ายหมายจับป.วิ อาญา ในคดีค้างเก่า 25 หมาย มีการออกหมายจับ ตาม พ.ร.ก.ฯ จำนวน 1 หมายจับกุม 1 ราย ด้านความคืบหน้าคดีสำคัญ กรณีเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายพิสูจน์ทราบแหล่งพักพิงกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงบริเวณ ป่าพรุตะโละมีญอ ตำบลตะปอเยาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาสระหว่างวันที่ 28 กันยายน ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 64 จากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 2 นาย และผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 6 ราย ซึ่งทั้ง 6 ราย เป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นที่อยู่ระหว่างหลบหนี มีหมายจับ ป.วิ อาญา รวมกัน 20 หมาย และเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีคำพิพากษาคดีความมั่นคง ได้แก่ คดีนำระเบิดมาผูกติดกับเสาไฟฟ้า พื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง เมื่อ 11 สิงหาคม 61 คดีนี้ถือว่าถึงที่สุด เนื่องจากศาลฎีกาพิพากษาโทษจำคุก 14 ปี 1 ราย, คดีตรวจยึดเครื่องกระสุนปืนพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อ 21 มกราคม 62 คดีนี้ก็ถือว่าถึงที่สุดเช่นกัน โดยศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี 4 เดือน 1 ราย,คดีโจมตีสถานียุทธศาสตร์กลาพอ พื้นที่อำเภอสายบุรี เมื่อ 20 กรกฎาคม 48 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษประหารชีวิต 1 ราย และคดียิงอาสาสมัครทหารพรานนาวิกโยธินเสียชีวิต 2 นาย เหตุเกิดพื้นที่ตำบล ปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อ 26 พฤษภาคม 62 ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต 3 คน ยกฟ้อง 2 คน
ด้าน พันจ่าโท อนันต์ บุญสำราญ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานในห้วงเดือนตุลาคม 64 ที่ผ่านมา ศอ.บต. นำโดย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต.ได้มีโอกาสต้อนรับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะ เดินทางออนทัวร์ชายแดนใต้ ระหว่างวันที่ 14–16 ตุลาคม 64 โดยได้ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมระบบการขนส่งระหว่างประเทศ สะพานด่านพรมแดนไทย ที่ด่านพรมแดนสุไหง-โกลก ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย พร้อมร่วมประชุมหารือร่วมกับผู้บริหาร ศอ.บต. พร้อมมอบนโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล เรื่องการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบที่ 4 นิคมอุตสาหกรรมจะนะ และการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาผลไม้ในพื้นที่ รวมทั้งได้ประกาศมาตรการ 17+1 การบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2565 โดยมาตรการ 17 ด้าน เป็นมาตรการที่หนุนเสริมแล้วในภาคตะวันออกของประเทศ ส่วน +1 เป็นมาตรการเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนใต้ เพื่อระบายสินค้าทางการเกษตรไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ง่ายขึ้น เนื่องจากในปี 2563 ชายแดนใต้ส่งออกผลไม้มีมูลค่ากว่า 765 ล้านบาท แต่ในปีนี้ส่งออกได้ถึง 1,447 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 6 เดือน
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ได้หนุนเสริมการทำงานของ ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด -19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ “ศบค. ส่วนหน้า” โดยได้สนับสนุนมาตรการเยียวยาแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ฯ ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของหน่วยงานภาครัฐในแต่ละพื้นที่รวมทั้งประชาสัมพันธ์เชิงรุกผ่านช่องทางการสื่อสารของ ศอ.บต. ทุกช่องทาง พร้อมได้ดำเนินกิจกรรมนำประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน จชต. ไปประกอบพิธีอุมเราะฮ์ ในวันที่ 28-29 พ.ย.64 โดยปีนี้ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้รับอนุญาตให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบตามสูตรที่กำหนด เดินทางไปแสงบุญที่ประเทศซาอุดิอาระเบียได้ ซึ่ง ศอ.บต. ได้มอบหมายให้จังหวัด และอำเภอพิจารณาคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 112 คน จากจังหวัดปัตตานี 29 คน ยะลา 43 คน นราธิวาส 45 คน สงขลา 4 คน สตูล 1 คน และได้ดำเนินการจ่ายเงินสวัสดิการแก่ครู และบุคลากรทางการศึกษาเพิ่มเติมจากเงินช่วยเหลือ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน จชต. รายละไม่เกิน 400,000 บาท โดยใช้งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการช่วยเหลือ จำนวน 162 ราย ที่ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ 1 ม.ค.47 เป็นต้นมา โดยเมื่อ วันที่ 2 พ.ย.64 กระทรวงศึกษาธิการได้จ้างเงินสวัสดิการเพิ่มเติม 39 รายๆ ละ 2,800,000 บาท รวม 34 ล้านบาท
***********************