วันศุกร์, 24 มกราคม 2568

ผบ.ทบ. ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรั้วความมั่นคงอีเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่อำเภอตากใบ

           เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 เวลา 10.30 น. ณ ด่านศุลกากรตากใบ อำเภอตากใบ จังหวังนราธิวาส พลเอก ณรงค์พันธ์  จิตต์แก้วแท้  ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และคณะ ลงพื้นที่ตรวจแนวชายแดนไทย – มาเลเซียตามลำน้ำโกลก พร้อมรับฟังบรรยายสรุปแผนการสกัดกั้นตามแนวชายแดน/การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโกลก และการก่อสร่างรั้วความมั่นคงอิเล็กทรอนิกส์ โดยมี พลโท เกรียงไกร  ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมด้วย พลตรี เฉลิมชัย ขำเขียว ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส, ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, นายด่านศุลกากรตากใบตลอดจนผู้เกี่ยวข้องร่วมต้อนรับ

             ในการนี้พลเอก ณรงค์พันธ์  จิตต์แก้วแท้  ผู้บัญชาการทหารบกได้โดยสารเรือสปีดโบ๊ท ล่องไปตามลำน้ำสุไหงโก-ลก โดยเริ่มต้นจากด่านศุลกากรตากใบ ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับเมืองเป็งกาลันกูโบ รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ไปยัง ตำบลนานาค อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส พร้อมกันนี้ได้รับฟัง รายงานสรุปการก่อสร้างการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโกลก และการก่อสร่างรั้วความมั่นคงอิเล็กทรอนิกส์ ถึงความจำเป็นในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว จากเงินงบประมาณปี 2565 ถึง ปี 2567 ซึ่งผูกพัน 3 ปี ด้วยเงินงบประมาณ 519 ล้านบาท ในส่วนการก่อสร้างผนังเขื่อนป้องกันตลิ่งระยะทาง 7.528  กิโลเมตร เนื่องจากประเทศมาเลเซียก่อสร้างแล้วเสร็จ ทำให้ริมตลิ่งฝั่งไทยถูกน้ำกัดเซาะ จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างผนังเขื่อนป้องกันตลิ่งขึ้นมา และการก่อสร้างรั้วความมั่นคงอีเล็กทรอนิกส์ ระยะทางยาว 6 กิโลเมตร จะมีการติดตั้งระบบ CCTV ในพื้นที่ 4 ชุมชนริมตลิ่งแม่น้ำสุไหงโกลก จำนวน 282 ตัว ในพื้นที่ อำเภอตากใบ คือ ชุมชนตาบา ตำบลเจ๊ะเห, ชุมชน ตำบลเกาะสะท้อน, ชุมชน ตำบลโฆษิต และชุมชน ตำบลนานาค โดยกล้อง CCTV มีประสิทธิภาพในการจับใบหน้า การซูม จับภาพมองคงที และการหมุนไปมา เป็นเครื่องมือที่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนทั้ง 2 ฟากฝั่ง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเวลาอันใกล้นี้

            สำหรับด่านศุลกากรตากใบ มีท่าข้ามอนุโลม จำนวน 6 ท่า และท่าข้ามผิดกฎหมาย จำนวน 115 ช่องทาง ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก  มีท่าข้ามอนุโลม จำนวน 7 ท่า และท่าข้ามผิดกฎหมาย จำนวน 34 ช่องทาง ส่วนด่านศุลกากรบูเก๊ะตา ท่าข้ามอนุโลม จำนวน 2 ท่า และท่าข้ามผิดกฎหมาย จำนวน 24 ช่องทาง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมพื้นที่ชายแดน ตามแผนงานโครงการก่อสร้างรั้วชายแดนไทย-มาเลเซีย สร้างขึ้นเพื่อป้องกัน สกัดกั้น ยับยั้งการลักลอบขนย้าย อาวุธ ยาเสพติด แรงงานต่างด้าว สิ่งผิดกฎหมายต่างๆ และการคัดกรองบุคคล ตลอดจนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือสายพันธุ์โควิด-19 กลายพันธุ์จากโอมิครอน เป็นสายพันธุ์อื่นๆ หรือแม้แต่โรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีเอกภาพ และเพื่อให้พื้นที่ชายแดนมีความมั่นคงปลอดภัย สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบริเวณชายแดน อีกทั้งรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดเหตุรุนแรง ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอีกด้วย

***************************