หนุนการท่องเที่ยวชุมชน “ลูโบะดีแย แคมป์ปิ้งริมน้ำ” ผ่านกระบวนการคิดของคนในพื้นที่ สร้างความรัก
ความสามัคคีและหวงแหนชุมชนร่วมกัน
โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการให้ทุกตำบลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการพัฒนาผ่านประชาชนในแต่ละตำบล โดยพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์แก่คนในชุมชน และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความรัก ความสามัคคี และความสงบสุขจากโครงการที่ต้องการดำเนินการ โดยในพื้นที่ จชต. มี ศอ.บต. เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนโครงการฯ ดำเนินการผ่านการพัฒนาพื้นที่โดยสภาสันติสุขตำบล ผลักดันให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเชื่อมโยงเศรษฐกิจในระดับตำบลและระดับจังหวัด
“ลูโบ๊ะดีแย แคมป์” อยู่ในพื้นที่บ้านปายอ หมู่ 2 ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นอีก 1 จุด ที่มีการขับเคลื่อนงานผ่านสภาสันติสุขตำบล โดยพื้นที่แห่งนี้อดีตเป็นบึงน้ำธรรมชาติ ไม่ค่อยมีผู้คนสนใจ รายล้อมไปด้วยสวนทุเรียนของชาวบ้าน หลังจากมีการเสนอผ่านสภาสันติสุขตำบลถึงความต้องการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว สถานที่แห่งนี้จึงได้กลายมาเป็น “ลูโบ๊ะดีแย แคมป์” โดยลูโบ๊ะ หมายถึง บึง ส่วนดีแย หมายถึง ทุเรียน จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศน์ โดยมี ศอ.บต. ให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์สิ่งก่อสร้าง เพื่อมาตกแต่งสถานที่แห่งนี้ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดึงดูดประชาชนในทุกวัย ที่ชื่นชอบท่องเที่ยวสไตล์แคมป์ปิ้งได้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจในช่วงวันหยุดหรือวันธรรมดา เป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่
นายดานิส มะหลี หนึ่งในเยาวชนผู้ริเริ่มแนวคิดการท่องเที่ยวแห่งนี้ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนเองชอบเที่ยวแบบธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ ทำให้มีความคิดขึ้นว่า บ้านเราก็สามารถทำแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติได้เช่นกัน จึงกลายมาเป็น “ลูโบ๊ะดีแย แคมป์” ซึ่งส่วนใหญ่จะมีผู้สนใจมารวมกลุ่มกันทั้งจากพื้นที่ต่างๆ เช่น จังหวัดยะลา ปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส บางคนก็เพิ่งจะมาเป็นครั้งแรกหลังจากติดตามทางเพจ รวมทั้งเพื่อนๆ แนะนำมา ซึ่งแต่ละคนต่างบอกว่ารู้สึกชอบ ประทับใจมาก ที่นี่มีบรรยากาศที่ดีเป็นธรรมชาติ มีมุมหลายมุมสวยงามให้ถ่ายรูป การเดินทางก็สะดวก และที่สำคัญไม่ไกลจากตัวเมืองยะลามากนัก
สำหรับลูโบะดีแย แคมป์ เปิดมาตั้งแต่ปี 2563 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีเยาวชนในพื้นที่ เปิดเพจท่องเที่ยวและมีการจองเกือบเต็มในทุกๆ สัปดาห์ มีประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่เข้ามาจองผ่านเพจ โดยมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของอาหารเช้าที่จะคิดในราคารายหัวละ 100 บาท สำหรับอาหารพื้นบ้านรวมถึงขนม กาแฟ จากชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นการช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้ไปด้วย