เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมน้อมเกล้า อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพน้อยที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร ให้การต้อนรับ และประชุมหารือร่วมกับ Mr.yousef Mohammed s. Aldobeay ผู้ช่วยเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับฟังสรุปผลการปฏิบัติงานในห้วงที่ผ่านมาในมิติต่างๆ โดยผู้ช่วยเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ได้ให้คำแนะนำเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกล่าวถึงจุดยืนในบทบาทขององค์กรความร่วมมืออิสลาม ในการดูแลชนกลุ่มน้อยมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขและเเนวทางที่ได้กำหนดไว้และไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศนั้นๆ ตลอดจน สะท้อนมุมมองต่อสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้
1.ชื่นชมพัฒนาการในการแก้ไขปัญหา จชต.ที่รัฐได้ดำเนินการแก้ปัญหาภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายและในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้สังเกตุการณ์ของกลุ่มองค์กรความร่วมมืออิสลามยังไม่มีประเด็นน่าวิตกกังวลในเวทีการประชุมของ OIC ในระดับต่างๆ
2.ไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องหรือแสดงออกของกลุ่มต่างๆที่ไม่อยู่ในกรอบกติกา/กฏหมายของประเทศ
3.ไม่เห็นด้วยกับการสร้างสถานการณ์ด้วยความรุนแรงในทุกรูปแบบ
4.พร้อมเข้าไปช่วยคลี่คลาย/ไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งหากได้รับการร้องขอ
Mr.yousef Mohammed s. Aldobeay ผู้ช่วยเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ยังได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศที่ได้มีหนังสือเชิญองค์การความร่วมมืออิสลามให้เดินทางมาเยือนไทยในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำความปรารถนาดีจาก OIC มาถึงพี่น้องชาวไทย โดยชื่นชมพัฒนาการในการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐได้ดำเนินการแก้ปัญหาภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายและในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้สังเกตุการณ์ของกลุ่มองค์กรความร่วมมืออิสลามยังไม่มีประเด็นน่าวิตกกังวลในเวทีการประชุมของ OIC ในระดับต่างๆ เพราะประเทศไทยมีแนวทางสมานฉันท์จากทุกฝ่าย เชื่อว่าทุกประเทศมีกรอบ กติกา ในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในเรื่องต่างๆ OIC ไม่ปฏิเสธแนวทางการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ทั้งด้านสังคม การเมือง ศาสนา แต่หากเป็นการเรียกร้องที่ไม่อยู่ในกรอบของกติกา ก็เป็นสิ่งที่ OIC ไม่ให้การรับรองและไม่ให้การสนับสนุนเช่นกัน สำหรับแนวทางการสร้างสมานฉันท์แก่กลุ่มต่างๆ ที่ประสบกับปัญหา OIC จะเข้ามามีส่วนในการส่งเสริมแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย เชื่อว่าภายใต้สังคมที่มีความแข็งแกร่ง และลักษณะเด่นของคนไทยที่มีความรักมีรอยยิ้มให้แก่กันในทุกโอกาส ตรงนี้จะทำให้การแก้ปัญหาของประเทศไทยรุดหน้า และสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
————————————-