เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 พันเอก เสฏธวุฒิ จันทนะ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานศูนย์แรกรับชุมชนบำบัดแก้ไขปัญหายาเสพติด (CBTX) ครอบครัวกาบัง บ้านลาเต๊าะ (บ้านย่อย บ้านลาแล) หมู่ที่ 5 ตำบลกาบัง อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา ซึ่งเกิดขึ้นโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด ในรูปแบบชุมชนบำบัดแก้ไขปัญหายาเสพติด (CBTx) ครอบครัวกาบัง ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการนำผู้ป่วยยาเสพติดเข้ารับการบำบัดไปแล้ว 5 รุ่น รวมทั้งสิ้น 58 คน จาก 2 ตำบลในพื้นที่อำเภอกาบัง
พันเอก เสฏธวุฒิ จันทนะ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโดยชุมชนมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งนโยบายที่สำคัญ โดยแม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ให้ความสำคัญเร่งด่วน ทั้งด้านการป้องกัน ด้านการปราบปราม และด้านการบำบัดรักษาตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตคืนคนดีสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการรุนแรง ประชาชนสามารถติดหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเข้ารับการรักษาต่อยังสาธารณสุขในพื้นที่ และหากรุนแรงคุ้มคลั่งเจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งต่อยังโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานีต่อไป เพื่อคลายปัญหาความทุกข์ใจของประชาชน เชื่อว่าหากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ และร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ให้ลดลงและหมดสิ้นไปในอนาคต
ศูนย์แรกรับชุมชนบำบัดแก้ไขปัญหายาเสพติด (CBTx) ครอบครัวกายัง เป็นกระบวนการบำบัดยาเสพติดที่นำเยาวชนกลุ่มเป้าหมายของโครงการบำบัดยาเสพติด ที่ผ่านการคัดกรองเป็นผู้ป่วยยาเสพติด และสมัครใจเข้ารับการบำบัดด้วยการดูแลแปลงเกษตรชุมชน ร่วมกันปลูกผักปลอดสารพิษ และเลี้ยงปลา โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นพี่เลี้ยงดูแล โดยใช้กระบวนการ (CBTx) ซึ่งได้ดำเนินการในรูปแบบการบำบัดในเชิงบูรณาการ โดยเฉพาะต่อผู้ใช้และผู้เสพยาเสพติดในชุมชน เพื่อให้เกิดการบำบัดฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การรักษาระยะเริ่มต้น ถึงการรักษาถอนพิษยา รวมทั้งสร้างความเสถียรภาพ จนถึงการติดตามผลการรักษา ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันไม่ให้กลับไปติดยาเสพติดซ้ำ เพื่อคืนผู้ป่วยยาเสพติดสู่สังคมและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขต่อไป
—————————
.