เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลโท ศานติ ศกุนตนาค ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4/ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านยาเสพติดให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดผ่านกลไกในการบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ กว่า 10 หน่วยงาน ทั้งด้านการป้องกัน ด้านการปราบปราม และด้านการบำบัดรักษาตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตคืนคนดีสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9, กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้, โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับการประชุมคณะกรรมการของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นครั้งแรกประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งมีผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับการแต่งตั้งตามแผนการปฏิบัติเพื่อให้เป็นกลไกหลักในการทำงาน สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ มีกรอบแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจน สามารถร่วมกันขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม แก้ไขความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง และนอกจากความชัดเจนของคณะทำงานแล้ว การแก้ไขปัญหายาเสพติดในเรื่องของส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดได้เริ่มมาตั้งแต่ห้วงเดือน ตุลาคม 2565 เป็นเวลากว่า 3 เดือนมีผู้เข้ารับการบำบัดที่ได้รับแจ้งไปยังหน่วยในพื้นที่ จากชุมชน จากโรงพยาบาลศูนย์ตำบล เข้าพักรักษายังศูนย์บำบัดสาธารณสุข และพักรักษายังโรงพยาบาลธัญลักษณ์ปัตตานี มียอดกว่า 122 ราย ทั้งนี้จะใช้เวลาในการบำบัดรักษาและขยายผลไปจนถึงการประเมินความพร้อมเพื่อให้แน่ใจว่า บุคคลเหล่านี้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ ก็จะส่งคืนกลับสู่อ้อมกอดของสังคมโดยเร็ว
พลโท ศานติ ศกุนตนาค ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 / ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า “การจัดประชุมครั้งนี้ เป็นอีกก้าวที่แสดงถึงพลังของภาครัฐและภาคประชาชนที่จะร่วมกันต่อต้านและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกคนจะรู้นโยบายและเดินไปทิศทางเดียวกัน ทุกคนมีหน้าที่และพร้อมจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในการพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยยาเสพติด ซึ่งแนวทางการดำเนินงานที่เร่งด่วนของการแก้ไขปัญหายาเสพติดในวันนี้เราต้องรีบเอาผู้ป่วยทางจิตเวชมีอาการคลุ้มคลั่งออกจากชุมชนมาให้ได้ พี่น้องประชาชนที่อยู่ในชุมชนจะต้องปลอดภัย ควบคู่กับการบำบัดรักษาผู้ป่วยจากยาเสพติดจนหายดี แล้วคืนเค้าสู่ชุมชน โดยประชาชนสามารถแจ้งไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุเรื่องกรณีมีผู้คลุ้มคลั่งจากยาเสพติดให้หน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่รับเรื่องแล้วประสานส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษา หลังจากนี้ทุกภาคส่วนรับรู้นโยบายเป็นหนึ่งเดียวแล้ว ขอให้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดจนมั่นใจว่าปัญหานี้จะหมดไปจากทุกข์ของพี่น้องจังหวัดในภาคใต้”
——————————