วันพฤหัสบดี, 23 มกราคม 2568

ศปป.5 กอ.รมน. นำสื่อมวลชน (ส่วนกลาง) ติดตามการขับเคลื่อนงาน กอ.รมน.ภาค 4 สน.

วันนี้ ( 19 ธันวาคม 2566 ) เวลา 13.30 น. พลตรี กรกฎ ภู่โชติ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ให้การต้อนรับ พลโท ธัชพล เปี่ยมวุฒิ ผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร นำสื่อมวลส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร) เข้าเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ความมั่นคง และรับฟังปัญหา ข้อขัดข้อง และข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จาก ฝ่ายอำนวยการและฝ่ายกิจการพิเศษ ณ ห้องประชุม 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
โดย รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการงานการแก้ปัญหา งานการป้องกันปัญหา และการเสริมความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งเสริมการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โดยใช้กลยุทธ์เชิงรุก เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครประจำพื้นที่ ในการรักษาความปลอดภัยชุมชนของตนเอง ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อนำสันติสุขกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน ในบริบทของสังคมพหุวัฒนธรรม ยืนยันการปฏิบัติงานของหน่วยงานความมั่นคง การดำเนินงานด้านการพัฒนา การอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมภายใต้นโยบายของรัฐบาล ยืนยันการประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญยิ่งเพราะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจในข้อมูลข่าวสาร และข้อเท็จจริงไปยังพี่น้องประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับทราบถึงแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่ รวมถึงการขับเคลื่อนงานด้านเครือข่าย การสื่อสารสร้างความเข้าใจ และมีส่วนร่วมที่สามารถเป็นช่องทางสื่อสารของภาครัฐไปสู่ประชาชน ทำให้พี่น้องประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ได้มีความเข้าใจการทำงานของภาครัฐ เพื่อร่วมกันสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนในพื้นที่ต่อไป
โอกาสนี้ ผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระบุว่ากิจกรรมครั้งนี้มุ่งหวังให้สื่อมวลชนส่วนกลางจากกรุงเทพมหานครได้สัมผัสบรรยากาศ วิถีชีวิต การดำรงอยู่ของพี่น้องประชาชน ภายใต้เมืองพหุวัฒนธรรม พร้อมย้ำว่าต้องการให้สื่อมวลชนรับทราบ ได้เป็นเสียงสะท้อน ในการได้รับข้อมูลและส่งต่อข้อมูลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท ในการแก้ไขปัญหา คืนสันติสุขแก่พี่น้องจังหวัดชายแดนใต้เป็นสำคัญ
ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พร้อมคณะฯ ลงพื้นที่ ติดตามการดำเนินงานของศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ด้วยมาตรการงานด้านการข่าว การสกัดกั้น การปราบปราม การป้องกัน การบำบัดรักษาและการฟื้นฟู เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ได้ อย่างยั่งยืน โดยมีแนวทางการปฏิบัติที่สำคัญ คือ การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Based Treatment and Rexabilitation: CBTx) ณ ศูนย์ขับเคลื่อน การบำบัดฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (CBTx) ตำบลสะเอะ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นการดูแลผู้ใช้ยาเสพติดให้เกิดการบำบัดฟื้นฟูใกล้บ้าน หรือภายในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีกระบวนการตั้งแต่การค้นหา คัดกรอง บำบัดฟื้นฟู การติดตามดูแลช่วยเหลือทางสังคม และการส่งเสริมการมีอาชีพเพื่อส่งคืนคนดีกลับสู่สังคม ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญที่หน่วยงานทุกภาคส่วนและชุมชนเข้ามาดำเนินการร่วมกัน โดยปี 2567 กำหนดแนวทางขยายพื้นที่การดำเนินงานโครงการบำบัดฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน CBTx ในพื้นที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นอย่างน้อย อำเภอละ 1 ตำบล ให้สามารถดำเนินงานได้โดยจะต้องไม่ซ้ำกับของเดิม เพื่อรองรับกลุ่มเยาวชนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในระดับ ผู้ใช้ ผู้เสพ ให้หยุดพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และกลับมาเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับกลุ่มเยาวชนในชุมชน
ด้านผู้แทนสื่อมวลชนได้กล่าวขอบคุณ และขอเป็นกำลังใจ พร้อมชื่นชมเจ้าหน้าที่ บุคคลากรที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่เป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และถือเป็นแบบอย่างที่ดี ในการกำกับดูแล และขับเคลื่อนการบำบัดฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (CBTx) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้รับฟังผลการดำเนินงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่าจะนำเสนอผลการดำเนินงานที่ได้สัมผัสด้วยตา และเกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อให้พื้นที่อื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่างในการบูรณาการทำงาน ยืนยันจะนำเสนอกิจกรรมที่ทุกคนทุ่มเท เสียสละ พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน ชุมชน สู่สายตาประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ได้รับทราบอย่างกว้างไกล
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวฯ ในพื้นที่เดิม จำนวน 37 ตำบล นำร่องใน 37 อำเภอ ให้ ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอ (ศปร.อำเภอ )ขับเคลื่อนโดยยกระดับการทำงาน จากที่เป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น สามารถที่จะตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ในเรื่องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดได้ ปัจจุบันการบำบัดฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (CBTx) มียอดค้นหาผู้ป่วยยาเสพติด จำนวน 1,253 ราย ยอดส่งเข้ารับการบำบัดจำนวน 972 ราย
————————————-